วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สุโขทัย

:: ศูนย์ศึกษา และอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) ::
 
ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะน้อย ห่างจากตัวเมืองเก่าศรีสัชนาลัยเลียบแม่น้ำยมไปทางเหนือประมาณ 6.5 กิโลเมตร มีเตาเผาที่ขุดพบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกแล้วกว่า 500 เตา ในระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ถือได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเมืองศรีสัชนาลัย มีการขุดพบเครื่องสังคโลกทั้งในสภาพสมบูรณ์ และแตกหักเป็นจำนวนมาก ลักษณะเตาเผาจะเป็นรูปยาวรีคล้ายประทุนเรือจ้างยาวประมาณ 7 - 8 เมตร

ศูนย์ศึกษาฯ ดังกล่าว ปัจจุบันมีอยู่ 2 อาคาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเตาที่ใช้เป็นที่ศึกษา มีหมายเลขเตาที่ใช้เรียกในการศึกษา คือ เตาที่ 42 เป็นเตาบนดิน และเตาที่ 61 เป็นเตาใต้ดิน ภายในตัวอาคารจะมีการตั้งแสดงโบราณวัตถุ เอกสารทางวิชาการ ตลอดจนวิวัฒนาการเครื่องถ้วยสมัยโบราณให้นักท่องเที่ยวชมอีกด้วย ศูนย์ฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

การเดินทาง

จากบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือ ทางประตูเตาหม้อไปถึงบ้านเกาะน้อยประมาณ 6.5 กิโลเมตร จะเห็นซากเตาเผาโบราณเรียงรายอยู่โดยทั่วไป หรือจะเดินทางจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1201 ไปประมาณ 7 กิโลเมตร ลงมาที่บ้านเกาะน้อย จะเห็นอาคารศูนย์ฯ อยู่ทางซ้ายมื
 
:: สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติ (ทุ่งแม่ระวิง) ::
 
ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลป่ากุมเกาะ แต่เดิมเคยเป็นหนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 830 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นน้ำ 645 ไร่ พื้นดิน 185 ไร่ ลักษณะของสวนนี้เป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมองเห็นทิวทัศน์ได้ เหมาะสำหรับที่จะพักผ่อน ภายในบริเวณมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ สะพานไม้โบราณ ที่ข้ามอ่างน้ำเกาะกลางทุ่งแม่ระวิง มีความยาว 300 เมตร สักการะบูชาพระร่วง ณ วงเวียนประดิษฐานรูปพระร่วง อยู่ปากทางเข้าเกาะกลางทุ่งแม่ระวิง สักการะบูชาพระมหาโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม และนมัสการศาลปู่ก๊อก ข้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลป่ากุมเกาะ พักผ่อนศาลาที่พักริมทาง ชมวิวทิวทัศน์รอบเกาะ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานหลายด้าน เช่น โครงการเกษตรผสมผสาน ได้แก่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ พิพิธภัณฑ์ชาวนาแหล่งรวบรวมอุปกรณ์ชาวนาโบราณแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวนาสมัยสุโขทัย แปลงสวนสมุนไพรสาธิต เรือนเพาะชำกล้าไม้

นอกจากนั้นภายในบริเวณสวนแห่งนี้มีอาคารเอนกประสงค์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีจังหวัดสุโขทัย สอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลป่ากุมเกาะ โทร. 0 5564 2100
 
:: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ::
ตั้งอยู่ทางด้านขวาของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นที่รวบรวม และจัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองสุโขทัย และที่ประชาชนมอบให้

บริเวณพิพิธภัณฑ์แบ่งส่วนการแสดงโบราณวัตถุไว้เป็น 3 ส่วนคือ

 อาคารลายสือไท 700 ปี เป็นอาคารใหม่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอาคารใหญ่ เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยสุโขทัย อาทิ พระพุทธรูป เครื่องใช้ ถ้วยชาม เครื่องสังคโลก ศิลาจารึก ฯลฯ

 อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่าง จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะแหล่งโบราณคดีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และ ชั้นบน จัดแสดงศิลาจารึกสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสำริด เทวรูป โอ่งสังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำแสดงระบบชลประทานสมัยสุโขทัย ฯลฯ

 พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อยู่ด้านนอกโดยรอบอาคารใหญ่ เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุโบราณต่าง ๆ อาทิ พระพุทธรูปศิลา แผ่นจำหลัก รูปทรงอาคารไทยแบบต่าง ๆ เตาทุเรียงจำลอง เสมาธรรมจักศิลา เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ คนละ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมอุทยานฯ ต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน ในกรณีที่ประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. 0 5569 7367 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thailandmuseum.com
 
:: ศาลพระแม่ย่า ::
ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ถนนนิกรเกษม ริมแม่น้ำยม เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสุโขทัย ศาลนี้เป็นที่ประดิษฐานดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเทวรูปพระแม่ย่า ที่ทำด้วยศิลาสลักแบบเทวรูป พระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม พระเกตุมาลายาวประดับเครื่องทรงแบบนางพญา มีความสูง 1 เมตร ศาลพระแม่ย่าสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่ออุทิศให้กับพระมารดา คือนางเสือง เหตุที่เรียกว่า พระแม่ย่า นี้เพราะว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเรียกมารดาว่า พระแม่ และชาวเมืองสุโขทัยเคารพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสมอด้วยบิดา จึงเรียกพระมารดาของพระองค์ว่า พระแม่ย่า

ผู้ที่มาสักการะพระแม่ย่า มีความเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าเรื่องที่เป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจได้ประดุจเป็น "แม่ย่า" ที่คอยดูแล ปัดเป่าทุกข์โศก และคอยดูแลความเป็นอยู่ของลูกหลาน

แต่เดิมศาลพระแม่ย่าประดิษฐานอยู่บนเขาพระแม่ย่า บริเวณยอดเขามีเพิงหินเป็นผาป้องกันแดด และกันฝนได้ ต่อมาชาวจังหวัดสุโขทัยได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองใหม่ โดยสร้างศาลขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดดังเช่นปัจจุบัน และประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์มีการจัดงานเฉลิมฉลองที่ศาลพระแม่ย่าทุกปี เรียกว่า งานพระแม่ย่า การเดินทาง จากตัวเมืองในเขตเทศบาลมีรถโดยสารประจำทางผ่านไปศาลพระแม่ย่าทุกวัน

บทสวนบูชา ตั้งนะโม 3 จบ (มนต์กำจัดภัย) อะหัง วันทามิ ขะพุงผีมะหาเทวะดา สัพพะอุปาทา สัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค อุปาทา วิสาสายะ สัพพะสะตรู ปะมุจจะติ โอม ขุพุงผีมะหาเทวะตา สะทา รักขันตุ สะวาหะ สะวาหายะ (มนต์ขอลาภ-มงคล) อะหัง วันทามิ ขะพุงผีมหาเทวะตา รักขันตุ สะทาตุมเห อะนุรักขันตุ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง สัพพะลาภัง สะทาโสตถี ภะวันตุเม
 
:: สวนบุญชอบ เอมอิ่ม ::
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในลักษณะสวนไม้ผลผสมผสาน ที่ดำเนินงานตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน นักท่องเที่ยวสามารถชมและชิมผลไม้ได้จากสวนแห่งนี้อย่างจุใจ ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของสวนนี้คือมะปราง และมะยงชิด ซึ่งจะให้ผลในระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์

กิจกรรมท่องเที่ยวประกอบด้วย รับฟังบรรยายเกี่ยวกับการดำเนินงานของสวน หลังจากนั้น นักท่องเที่ยวจะได้ชมพรรณไม้ การจัดสวนและวิธีการปลูกไม้ผลต่างๆ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น แวะชิมผลไม้ในสวน (เฉพาะในฤดูกาล) และรับฟังวิธีทำการเกษตรที่น่าสนใจ พร้อมรับของที่ระลึก มีค่าบริการเข้าชม

การเดินทาง จากตัวเมืองสวรรคโลกใช้ทางหลวงหมายเลข 101 อ.สวรรคโลก - อ.ศรีสำโรง ระหว่าง กม.9 - 10 เลี้ยวซ้ายตามทางแยกไปวัดกรงทองประมาณ 2.5 กม. สวนบุญชอบ เอมอิ่ม จะอยู่ซ้ายมือ
 
:: บ้านทุ่งหลวง ::
บ้านทุ่งหลวง เป็นชุมชนโบราณแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่ในต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ราษฎรทำนา เมื่อว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านจะนำดินเหนียวที่มีอยู่ในพื้นที่มาทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ เช่น กระถาง โอ่งน้ำ หม้อดิน ฯลฯ เมื่อเหลือใช้แล้ว จึงหาบไปแลกเปลี่ยนกับของกินของใช้อื่นๆ กับหมู่บ้านใกล้เคียง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุ เมื่อครั้งเดินทางมาสำรวจมณฑลพิษณุโลกในปี พ.ศ.2444 ความตอนหนึ่งว่า "...วันที่ 18 เวลาตื่นตอนเช้า พระยาสุโขทัยเอาหม้อกรันมาให้ 3 ใบ เป็นหม้อที่ตั้งใจทำอย่างประณีตภาษาบ้านนอก เขาทำที่บ้านทุ่งหลวง อยู่ใต้เมืองสุโขทัยฝั่งตะวันตก..." หม้อกรันที่กล่าวถึงนั้นคือ หม้อน้ำในสมัยโบราณ รูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวงที่ยังคงมีการผลิตอยุ่กระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยใช้กรรมวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย

เมื่อรัฐบาลจัดทำโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ขึ้น ในปีพ.ศ. 2545 ชาวบ้านทุ่งหลวงได้มีแนวคิดที่จะรวบรวมงานฝีมือชั้นยอดของชุมชนตั้งเป็น "กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง" ขึ้น เพื่อให้เป็นที่รวมของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นศูนย์รวมของวิชาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณของทุ่งหลวง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การช่วยเหลือพัฒนากรรมวิธีในการผลิต ทั้งวัตถุดิบที่ใช้และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่เลื่อลือในคุณภาพและงานฝีมือ

เครื่องปั้นดินเผาทุ่งหลวง เป็นงานฝีมือที่ประณีตงดงามเป็นที่ยอมรับของตลาด มีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายทั้งประเภท เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องประดับตกแต่ง เช่น คนโทน้ำ หม้อดิน แจกัน รูปปั้น โคมไฟ ฯลฯ

กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาทุ่งหลวง ได้จัดเส้นทางการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ ความเพลิดเพลิน ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชน ชมกรรมวิธีผลิตเครื่องปั้นดินเผา และกิจกรรมต่างๆ โดยมีค่าบริการในการจัดการ ควรติดต่อล่วงหน้า ที่กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง 238 หมู่ 2 ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย 64160 โทร. 0 5569 3451

การเดินทาง จากจังหวัดสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 สุโขทัย - กำแพงเพชร ก่อนถึงอ.คีรีมาศประมาณ 5 กม. จะมีทางแยกซ้ายเข้าวัดลาย เข้าไปประมาณ 1 กม.
 
:: หลวงพ่อศิลา ::
แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำเจ้าราม กลางป่าลึกในเขตติดต่ออำเภอบ้านด่านลานหอย ต่อมาชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยมได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดทุ่งเสลี่ยม เมื่อราวปี พ. ศ. 2472 - 2475 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2520 ได้มีคนร้ายขโมยหลวงพ่อศิลาไป และได้มีการนำไปประมูลขายที่ประเทศอังกฤษ แต่ภายหลังก็สามารถติดตามกลับคืนมาได้ และนำมาประดิษฐานยังวัดทุ่งเสลี่ยมตามเดิม
 
:: พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ ::
ตั้งอยู่เลขที่ 477/2 ต.หาดเสี้ยว จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของผ้าทอมือลายโบราณ ชาวไทพวน บ้านหาดเสี้ยวได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น จก9ลาย ผ้าที่ใช้ในพิธีบวชนาคด้วยขบวนช้าง ผ้าที่ใช้ในพิธีแต่งงาน ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยวที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปี นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่นทองคำ (ซิ่นไหมคำ) ผืนเก่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมผืนใหม่ ซึ่งจัดทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีแต่งงาน

ผ้าซิ่นทองคำนี้เป็นผ้าที่มึความประณีตงดงาม ตามแบบฉบับของราชวงศ์ทางเหนือ และร้านยังได้มีการจัดแสดงเรือนไทยของชาวไทยพวนในสมัยโบราณ พร้อมทั้งมีการสาธิตกรรมวิธีในการทอผ้าซิ่นตีนจกของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 07.00 - 18.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. 0 5567 1143, 0 1042 7542 โทรสาร 0 5563 0058

การเดินทาง จากกรุงเทพ จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยก่อน ระยะทางประมาณ 550 กม. และจากอุทยานฯ ไปอีก 11 กม.
 
:: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองสวรรคโลก หลังวัดสวรรคาราม (วัดกลาง) ห่างจากตัวเมืองสุโขทัย 38 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร ถึงพิพิธภัณฑ์ ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ชั้นบน จัดแสดงประติมากรรมสมัยต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสมบัติที่มาจากวัดสวรรควรนายก และพระ สวรรควรนายก และบางส่วนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย จนถึงศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนบริเวณ ชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องถ้วยสังคโลก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ ซึ่งขุดพบมากที่แหล่งโบราณคดีเครื่องถ้วยสังคโลกบ้านเกาะน้อย และบ้านป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย รวมทั้งแสดงเครื่องถ้วยชามสมบัติใต้ทะเลที่งมได้มาจากแหล่งเรือจมในอ่าวไทย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 - 16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท ในกรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรนำชม ติดต่อได้ที่พิพิธภัณฑ์สวรรควรนายก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย 64110 โทร. 0 5564 1571, 0 5564 3166 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thailandmuseum.com
 
:: หลวงพ่อปี้ ::
รูปหล่อของท่านประดิษฐาน ณ วัดลานหอย ท่านได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2517 ท่านนับเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของภาคเหนือ โดยวัตถุมงคลของท่านมีชื่อเสียงทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องเดินทาง และทำงานเสี่ยงภัยต่างๆเป็นอย่างยิ่ง
 
:: พิพิธภัณฑ์ปลาในวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ ::
ตั้งอยู่ภายในสวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เส้นทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย - พิษณุโลก พิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ทางขวามือ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดในวรรณคดีมากมาย อาทิ ปลาจากกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองทองแดง กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง) นิราศอิเหนา ฯลฯ พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม

การเดินทาง สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางได้ที่ สถานีขนส่งเดินรถโดยสารประจำทาง (บขส.) สายพิษณุโลก-สุโขทัย มาลงที่สวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ
 
:: พิพิธภัณฑ์สังคโลกสุโขทัย ::
 
ตั้งอยู่บริเวณเมืองเอกพลาซ่า ถนนบายพาส ห่างจากเมืองเก่าประมาณ 12 กิโลเมตร ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องสังคโลกที่มีคุณค่ากว่า 2,000 ชิ้น ที่ได้รวบรวมมาจากในประเทศ และต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท นักเรียนในเครื่องแบบ 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 20 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5561 4333

การเดินทางสามารถนั่งรถโดยสารประจำทาง หรือรถสามล้อจากตลาดในตัวเมืองไปพิพิธภัณฑ์ได้ทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น