วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตาก

ตะวันขึ้นเหนือทะลหมอกสวยในฝันที่ดอยแม่ระมิง ::
ดอยแม่ระเมิง จ.ตาก หลายคนว่าเป็นทะเลหมอกสวย ในฝัน วันปลายฤดูฝนต้นหนาว คือช่วงเวลาดีที่สุด ซึ่งคุณพลาดไม่ได้อีกแล้ว

คุ้มค่าน่าไป และไม่ไกลเหมือนจุดชมทะเลหมอกแห่งอื่น คือ ทะเลหมอกสวยในฝัน ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่มีผิดหวัง หากคุณไป ตรงวันเวลาถูกฤดูกาล ทุกเช้าก่อนรุ่งสางรอชมตะวันขึ้นกับ ทะเลหมอกมองได้ 180 องศา ก่อนกลับแวะไปชมหมู่บ้าน กะเหรี่ยง 200 ปี เป็นของแถม จะรู้ว่าทำไมผู้คนอยู่ลึกเร้น กลางขุนเขาไม่เคยย้ายถิ่นฐานยาวนานถึง 200 ปี

ตะวันขึ้นเหนือทะลหมอกสวยในฝันที่ดอยแม่ระมิง จ.ตาก

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด: ช่วงเวลาราว 06.00 น.
ฤดูกาลที่ดีที่สุด: ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
จุดชมวิวที่ดีที่สุด: ม่อนกิ่วลม
 
:: ดอยหัวหมด ::
อยู่ในเขตอำเภออุ้มผาง เป็นภูเขาหินปูนที่ทอดตัวเป็นแนวยาวหลายลูกติดต่อกัน บนภูเขาเหล่านี้ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขี้น มีแต่ต้นหญ้าเตี้ย ๆ เช่น ปรง ต้นเทียน ซึ่งจะออกดอกบานในช่วงฤดูฝน มีจุดชมวิวซึ่งเหมาะที่จะดูพระอาทิตย์ขึ้น-ตก และดูทะเลหมอกท่ามกลางทิวเขาสลับซับซ้อนในยามเช้า โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว

การเดินทางใช้เส้นทางอุ้มผาง-ปะละทะ ประมาณ 10 กม. จุดชมวิวจุดแรดอยู่ที่ กม.9 ต้องเดินขึ้นเขาไป 20 นาที จุดชมวิวอีกจุดหนึ่งอยู่ประมาณ กม. 10 มีทางแยกซ้ายไปลานจอดรถและ ใช้เวลาเดินเท้า 5 นาที การชมทะเลหมอกขึ้นยามเช้าควรไปถึงจุดชมวิวก่อนพระอาทิตย์ขึ้นราว 05.00 - 06.00 น.
 
:: สะพานมิตรภาพไทย - พม่า (ประตูเชื่อมอันดามันสู่อินโดจีน) ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด สุดทางหลวงหมายเลข 105 (สายตาก-แม่สอด) เป็นสะพานสร้างข้ามแม่น้ำเมย ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับ เมืองเมียวดีสหภาพเมียนมาร์ (หรือพม่าเดิม) มีความยาว 420 เมตร กว้าง 13 เมตร สร้างเพื่อเชื่อมถนนสายเอเซียจากประเทศไทยสู่สหภาพเมียนมาร์ ตลอดจนภูมิภาคเอเซียใต้ ถึงตะวันออกกลางและยุโรป เป็นประตูสู่ อินโดจีนและอันดามัน แม่น้ำเมย หรือแม่น้ำต่องยิน เป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย เมียนมาร์ที่ยาวถึง 327 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้แปลกกว่าแม่น้ำทั่วไปคือไหลขึ้นทางทิศเหนือ โดยมีจุดกำเนิดที่บ้านน้ำด้น (เป็นน้ำที่ผุดขึ้นจากใต้ดิน) อำเภอพบพระ ไหลผ่านอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำภอท่าสองยาง ผ่านบ้านสบเมย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ไหลเข้าเขตพม่าลงอ่าวมะตะบัน
 
:: ตลาดสินค้าพื้นเมืองชาวเขาดอยมูเซอ และพิพิธภัณฑ์มูเซอดำ ::
ตั้งอยู่บนดอยมูเซอ ริมเส้นทางสายตาก - แม่สอด ทางหลวงหมายเลข 105 บริเวณกิโลเมตรที่ 28 ตลาดแห่งนี้ท่าน จะได้พบเห็นภาพวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขา ที่นำผลผลิตจากไร่สวนมาจำหน่าย ภายในบริเวณตลาดยังเป็นที่ตั้ง ของพิพิธภัณฑ์มูเซอดำ ซึ่งได้รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ของชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอดำและชาวเขาเผ่า ต่างๆ ไว้ทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หากมีความประสงค์จะชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวเขา กรุณาติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขา กรุณาติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก โทรศัพท์ 0 5551 3614 และบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 เป็นตลาดมูเซอเก่า โดยทั้งสองตลาดนี้เป็นสถานที่จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ชาวเขา ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องเงิน และพืชผลต่าง ๆ ทางการเกษตร เปิดจำหน่ายทุกวัน
 
:: สวนเทพพิทักษ์ ::
อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่สอด เส้นทางตาก - พบพระประมาณ 28 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการโดย คุณไพรัตน์ คุณบุปผา ไชยนอก เจ้าของสวนเริ่มปลูกและพัฒนาพันธุ์ทับทิมขึ้นมาใหม่ ชื่อ "ทับทิมศรีปัญญา" เมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งทับทิมที่ไร่เทพพิทักษ์จะออกลูกตลอดทั้งปี และมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ผลใหญ่ เนื้อแดงเข้ม รสชาติหวานจัดชาวจีนถือเป็นผลไม้มงคล และเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งทานได้ทั้งผลสุก และน้ำทับทิม ปัจจุบันสวนเทพพิทักษ์ได้พัฒนาทับทิมพันธ์ใหม่ ชื่อ "ทับทิมศรีสยาม" เป็นทับทิมไร้เมล็ด เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และได้ผลผลิตมากขึ้นในปี พ.ศ. 2548 นี้ ทับทิมที่สวนเทพพิทักษ์มีผลผลิตทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน และช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม จะมีผลผลิตออกมามากเป็นพิเศษ
 
:: ศาลเจ้าพ่อพะวอ ::
ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ ถนนสายตาก - แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 62 - 63 ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองตาก และชาวอำเภอแม่สอดมาก เล่ากันว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงแต่งตั้ง ให้เป็นนายด่านอยู่ที่ด่านแม่ละเมา เพื่อคอยป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามเขามาได้ เดิมทีศาลเจ้าพ่อพะวออยู่อีกด้านหนึ่งของเขา แต่เมื่อตัดถนนไปทางใหม่ จึงได้มาสร้างศาลขึ้นใหม่ มีผู้เล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าใครไปล่าสัตว์ในบริเวณเขาพะวอ แล้วมักจะเกิดเหตุต่างๆ เช่น รถเสีย เจ็บป่วย หรือหลงทาง และเพราะเหตุที่เจ้าพ่อพะวอเป็นนักรบ จึงชอบเสียงปืน ทำให้ผู้ที่เดินทางมาสักการะมักยิงปืนถวาย จุดประทัด หรือบีบแตรถวายท่านเป็นการแสดงความเคารพ
 
:: เขื่อนภูมิพล ::
  
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เขื่อนยันฮี เป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย สร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง ขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ จัดอยู่ในอันดับ 8 ของโลก มีความสูงจากฐานถึงสันเขื่อน 154 เมตร กั้นแม่น้ำปิงที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และด้านชลประทาน ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร รอบบริเวณเขื่อนภูมิพล เป็นแหล่งพักผ่อน และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดด้วย นอกจากนั้นทางเขื่อนภูมิพลได้จัดทำ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ สองฝั่งลำน้ำปิงเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ตื่น เป็นเส้นทางเดินศึกษาสภาพความ
หลากหลาย ของพื้นที่ป่าดิบเขา และการฟื้นฟูสภาพป่า ตลอดจนการศึกษาลักษณะสภาพป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ความหลากหลายของภูเขาหิน ลำห้วย และน้ำตก เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ 

อาคารเฉลิมพระเกียรติ์
 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสวนน้ำพระทัย จ้ดสร้างขึ้นในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวการก่อสร้างเขื่อนและนำเสนอประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมที่เกิดจากเขื่อนภูมิพล เรื่องในหลวงกับ กฟผ. การจำหน่ายผลผลิตจากโครงการหลวง ภายนอกอาคารจัดแสดงการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา 

สนามกอล์ฟเขื่อนภูมิพล
 เป็นสนามภูเขาที่มีความท้าทายท่ามกลางธรรมชาติ และภูมิทัศน์ที่สวยงาม ระยะ 6,065 หลา พาร์ 71 จำนวน 18 หลุม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองที่พักได้ที่เขื่อนภูมิพล โทร. 0 5554 9509 - 10, 0 5559 9093 - 7, ต่อ 2521
 
:: ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ::
ตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศาลนี้แต่เดิมอยู่ที่วัดดอยเขาแก้วฝั่ง ตรงข้ามกับตัวเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ชาวเมืองเห็นว่าศาลนั้นไม่สมพระเกียรติ จึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นใหม่พร้อม กับให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่า พระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2277 สวรรคต พ.ศ. 2325 รวม 48 พรรษา ศาลนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
 
:: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ::
มีพื้นที่ 1,619,280 ไร่ เป็นเขตป่าอนุรักษ์เพื่อการสงวน และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นผืนป่าตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิด ของแหล่งมรดกโลก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาว และเย็นมากในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ เสือลายเมฆ สมเสร็จ เลียงผา เหยี่ยว นกกระทุง ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เมื่อ พ.ศ. 2532
 
:: น้ำตกทีลอซู ::
ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตฯ 3 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นน้ำตกภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อท้อ ลำน้ำทั้งสายตกลงสู่หน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลแรงตลอดปี ความกว้างของตัวน้ำตกประมาณ 500 เมตร ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความสูงประมาณ 300 เมตร ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก ติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก น้ำตกทีลอซู คำว่า ทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตกดำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง การเดินทางใช้เส้นทาง บ้านแม่กลองใหม่-บ้านเปิ่งเคลิ่ง ระยะทาง 20 กม. ถึง ด่านป่าไม้เดลอแยกซ้ายมือจากถนนใหญ่ เป็นทางลำลอง ประมาณ 27 กม. ถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางเดินเท้าอีก 3 กม. ถึงน้ำตก ทีลอซู ลักษณะเป็นน้ำตกเขาหินปูน ขนาดใหญ่กลางป่าตะวันตก ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อทอ มีน้ำไหลตลอดปี ความกว้างของน้ำตกประมาณ 500 เมตร แวดล้อมด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์สวยงาม ติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก และสวยที่สุดในประเทศไทย รถยนต์ (ควรใช้รถปิคอัพ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีสมรรถนะสูงเท่านั้น) สามารถเข้าถึงที่ทำการเขตฯ เฉพาะในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม เท่านั้น ในช่วงเดือนอื่นๆ จะต้องใช้วิธีล่องแก่งแล้วเดินเท้าแทน 

ล่องแพ
 นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อผ่านบริษัททัวร์ที่จัดล่องแพในอำเภออุ้มผางได้ โดยติดต่อได้ที่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และอนุรักษ์อุ้มผาง โทร. 0 5556 1338

การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง หรือน้ำตกทีลอซู นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องดำเนินการ ขออนุญาตก่อน โดยผ่านการประทับตรา สป. 7 จากกรมป่าไม้ (แบบฟอร์มดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านชมรมส่งเสริม การท่องเที่ยว และอนุรักษ์อุ้มผาง) เพราะพื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยว เป็นการอนุญาตให้เข้าไปในฐานะผู้ศึกษา ธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเทศกาลวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขต อำเภออุ้มผางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่น้ำตกทีลอซูเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดในแหล่งธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาเรื่องขยะรวมถึงห้องสุขาไม่เพียงพอ และถนนเสียหาย

มหัศจรรย์รุ้งกินน้ำที่น้ำตกทีลอซู จ.ตาก

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด: ช่วงเวลาราว 10.00 น.
ฤดูกาลที่ดีที่สุด: ปลายฤดูฝนราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน
จุดชมวิวที่ดีที่สุด: หน้าน้ำตกชั้นบนสุด

หมายเหตุ : กรมอุทยานแห่งชาติได้ขอปิดเส้นทางรถยนต์เข้า-ออก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (น้ำตกทีลอซู) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 31 ตุลาคม 2549 การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวน้ำตกทีลอซูในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถเดินทางเข้าไปได้ด้วยกัน 2 เส้นทางด้วยกัน คือ

 เส้นทางที่ 1 ล่องเรือยางจาก อ.อุ้มผาง ขึ้นที่ท่าทราย เดินเท้าต่อไปยังน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง

 เส้นทางที่ 2 เดินเท้าตามเส้นทางรถจากห้วยหนองหลวงถึงน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะเดินทางเข้าไปในช่วงเวลาดังกล่าวต้อง ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางก่อนทุกครั้ง สอบถามรายละเอียดได้ที่
สำนักงาน ททท. ภาคเหนือเขต 4
โทร. 0 - 5551 - 4341 - 3 , E-Mail tattak@tat.or.th
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
โทร.0 - 5550 - 0919 - 20 และที่ทำการชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์อุ้มผาง โทร. 0 - 5556 - 1338
 
::อำเภอแม่สอด ::
อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตาก 86 กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ใน ที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งสหภาพพม่า อำเภอแม่สอด มีพื้นที่ประมาณ 2,600 ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขา และคนที่อพยพจากอำเภอเมืองเข้า ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ รวมทั้งชาวพม่าที่มีภรรยา และบุตรเป็นคนไทยด้วยประวัติความเป็นมา ของอำเภอแม่สอด นั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะเป็นเมืองฉอดของ ขุนสามชนที่ เคยยกทัพไปตีกรุงสุโขทัยหรือไม่ ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ เมื่อดูตามสภาพบ้านเมืองของอำเภอแม่สอดนั้น ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในยุคของสุโขทัยได้เลย ฉะนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่าไม่ใช่เมือง เดียวกัน ขณะนี้ได้มีนักโบราณคดีพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าทึบ ในท้องที่อำเภอแม่ระมาด อาจจะเป็นเมืองฉอดตามศิลาจารึกกรุงสุโขทัยก็ได้
 
:: อำเภอแม่ระมาด ::
เป็นอำเภอชายแดนที่ติดต่อกับสหภาพพม่าอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 120 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา สันนิษฐานว่าเดิมอำเภอแม่ระมาดเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง แต่ต่อมามีชาวไทยล้านนาอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ยกฐานะเป็นอำเภอแม่ระมาด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494

การเดินทาง จากตัวจังหวัดตากใช้เส้นทางตาก - แม่สอด - แม่ระมาด หรือใช้เส้นทางตาก - บ้านตาก - แม่ระมาดก็ได้
 
:: อำเภอพบพระ ::
เป็นอำเภอที่มีชายแดนติดกับสหภาพพม่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก 

การเดินทาง
 ใช้เส้นทางสายตาก - แม่สอด ทางหลวงหมายเลข 105 ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 75 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1090 ถึงกิโลเมตรที่ 26 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1206 ไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร จึงถึงอำเภอพบพระ รวมระยะทางจากตัวจังหวัดประมาณ 135 กิโลเมตร ก่อนที่กรมทางหลวงจะตัดถนนลาดยางสายแม่สอด - พบพระ (ทางหลวงหมายเลข 1206) นั้น

การคมนาคมระหว่างสองอำเภอนี้ลำบากมาก เพราะพื้นที่ของอำเภอพบพระเป็นพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขารับลม
มรสุมจากอ่าวเมาะตะมะ ดังนั้นพื้นที่นี้จึงมีฝนตกชุกที่สุดในเขตภาคเหนือราว 2,300 -3,000 มิลลิเมตร เส้นทางการคมนาคมจึงมีแต่โคลนตม ต้องเดินลุยโคลนกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า ขี้เปรอะเพอะพะ แปลว่า ขี้โคลนเปรอะเลอะเทอะ หมายความว่า ถ้าใครผ่านไปแถบนี้ขาแข้งจะมีแต่ขี้โคลนเปรอะเพอะพะ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า บ้านเพอะพะ แล้วจึงเปลี่ยนเป็น พบพระ
 
:: อำเภอท่าสองยาง ::
เป็นอำเภอชายแดนติดกับประเทศพม่า อยู่ติดลำน้ำเมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นราบ ประกอบอาชีพทำไร่ ระยะทางจากอำเภอแม่สอด - อำเภอท่าสองยาง ประมาณ 84 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวอำเภอเมืองตากถึงอำเภอท่าสองยางประมาณ 169 กิโลเมตร
 
:: อำเภออุ้มผาง ::
แต่เดิมที่อุ้มผางมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ทั้งหมด ต่อมาได้มีคนไทยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น อุ้มผางเดิมเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตกขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจหนังสือเดินทางชาวพม่า ที่เข้ามาค้าขายในเขตไทย ในสมัยก่อนชาวพม่าจะนำเอกสารใส่กระบอกไม้ไผ่มีฝาปิดเพื่อป้องกันฝนและการฉีกขาดระหว่างการเดินทาง เมื่อมาถึงอุ้มผางก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่เก็บเอกสาร เพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ในเขตไทยตรวจประทับตรา เอกสารที่ว่านี้เรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า "อุ้มผะ" ต่อมาได้เพี้ยนเป็น "อุ้มผาง" ซึ่งเป็นชื่อของอำเภออุ้มผางในปัจจุบัน ปัจจุบัน อุ้มผางเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัย และการได้สัมผัสธรรมชาติอันบริสุทธิ์ มีกิจกรรมล่องแก่งต้นลำน้ำแม่กลอง เดินป่าชมน้ำตก และหมู่บ้านชาวเขา มีที่พักรีสอร์ทเปิดให้บริการหลายแห่ง

การเดินทางผ่านถนนลอยฟ้าสู่อุ้มผาง "อุ้มผาง" เป็นเมืองท่องเที่ยวในอ้อมกอดของผืนป่า และหุบเขาสูงแห่งสุดท้ายของประเทศไทย ที่ยังเหลืออยู่ ผู้ไปเยือนอุ้มผางโดยทางรถยนต์จะได้สัมผ้สกับความงามของ "ถนนลอยฟ้า" ซึ่งเป็นแนวถนนลาดยางที่คดเคี้ยว 1,219 โค้งลัดเลาะไปในป่าใหญ่และสันเขาสูงสลับซับซ้อน จากกรุงเทพฯ เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ขัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ถึง จังหวัดตาก ระยะทางประมาณ 425 กม. ก่อนถึงตัวจังหวัดตาก 7 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก - แม่สอด) ถึงอำเภอแม่สอด ระยะทาง86 กม. แยกซ้ายมือไปตามทางหลวงหมายเลข 1090 (แม่สอด - อุ้มผาง) ตามเทือกเขาถนนธงชัย เส้นทางคดเคี้ยวสลับซับซ้อน 1,219 โค้งจาก อ.แม่สอด ถึงอุ้มผางระยะทาง 164 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 - 5 ชม. รวมระยะทาง จาก กทม. 668 กม. 
หมายเหตุ : เส้นทางช่วงแม่สอด-อุ้มผาง นักเดินทางควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และรถที่ใช้ควรมีสภาพดี หรือรถที่มีสมรรถนะสูง เพราะเป็นเส้นทางตัดผ่านเทือกเขา ถนนมีความคดโค้งมาก มีจุดแวะพักบริเวณกิโลเมตรที่ 84 มีร้านขายอาหาร และเครื่องดื่ม ผู้ที่เมารถควรรับประทานยาแก้เมารถไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันมีภาคเอกชนเปิดบริการการเดินทางสู่อุ้มผางด้วยเครื่องบินขนาดเล็กจาก กทม. ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นและจะได้สัมผัสเมืองอุ้มผางในอีกมิติหนึ่ง บริษัท สยาม จีเอ.จำกัด (Siam GA) บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ - อุ้มผาง สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 2535 7050 อุ้มผาง โทร. 0 5556 1611 - 2 หรือ www.sga.aero
 
:: บ้านโบราณ ::
อุ้มผางเป็นชุมชนเล็กๆ มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ลักษณะการสร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็น บ้านไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยวัสดุท้องถิ่น เช่น ใบตองตึง แป้นเกล็ดไม้ และกระเบื้องดินเผา ตัวบ้านยกสูง ใต้ถุนเปิดโล่ง มีบันไดขึ้นด้านหน้า ชานบ้านมีม้านั่งขนานกับขอบระเบียง รั้วบ้านทำด้วยปีกไม้ ปัจจุบันยังมีให้เห็นกันอยู่
 
:: เส้นทางศึกษาวิถีชีวิตชาวเขาในอ.อุ้มผาง ::
บ้านกะเหรี่ยงปะละทะ เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เก่าแก่ ตั้งอยู่ริมลำน้ำแม่กลอง ในเขตอำเภออุ้มผาง เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนามีไฟฟ้าใช้ สถานีอนามัย และโรงเรียน ชาวกะเหรี่ยงที่นี่ยังนิยมการแต่งกาย แบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง แต่ละบ้านจะมีหูกทอผ้า (เครื่องทอผ้า) ใช้กันเองในหมู่บ้าน สัตว์ที่เลี้ยงไว้ เช่น หมู และไก่ เพื่อสำหรับใช้เป็นอาหาร และเลี้ยงช้างไว้เป็นพาหนะในการเดินทาง และขนส่ง ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ ทำอาชีพเกษตรกรรม การเดินทาง จากอุ้มผางสามารถใช้เส้นทางอุ้มผาง - บ้านปะละทะ ประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงปะละทะ และจากบ้านปะละทะสามารถเดินป่า หรือขี่ช้างไปบ้านกระเหรี่ยงโคทะ และน้ำตกทีลอซูได้ ทั้งยังเป็นจุดล่องเรือยางตามลำน้ำแม่กลองไปน้ำตกทีลอเร
 
:: เส้นทางเดินป่าใน อ.อุ้มผาง ::
ท่าทราย-น้ำตกทีลอซู นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือยางไปตามลำน้ำแม่กลอง เริ่มจากอุ้มผางไปขึ้นที่ท่าทราย ใช้เวลา 3 ชั่วโมง แล้วเดินเท้าไปน้ำตกทีลอซู เส้นท่าทราย-น้ำตกทีลอซู ใช้เวลา 3 ชั่วโมง หรือจะนั่งเรือไปขึ้นที่แก่งมอกีโด้ แล้วจะเดินเท้า หรือจะนั่งช้างไปน้ำตกทีลอซู ใช้เวลา 4 ชั่วโมง หรือสามารถที่จะเดินเท้าจากบ้านเดลอถึงน้ำตกทีลอซู ระยะทาง 25 กิโลเมตร ใช้เวลา 7 ชั่วโมง
 
:: เมืองเก่าท่าสองยาว ::
ตั้งอยู่บริเวณห้วยลึก ห้วยธาตุริมฝั่งแม่น้ำเมยทางทิศใต้ของชุมชนแม่ต้าน สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองฉอดเก่า จากการสำรวจของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2502 พบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าด้านทิศใต้บ้านแม่ ต้านริมฝั่งแม่น้ำเมย ภายในเมืองโบราณมีแนวเทินดินมีคูคั่นเป็นกำแพงเมืองโบราณ ทางด้านทิศตะวันตก มี 3 ชั้น มีโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ 10 แห่ง บ่อน้ำสี่เหลี่ยมกรุอิฐ ลึกประมาณ 20 เมตร 1 บ่อ ลานกว้างบนยอดดอยมีพระเจดีย์ แบบเชียงแสน 1 องค์ นอกจากนี้ยังพบก้อนอิฐส่วนมากเป็นแบบสุโขทัย มีอิฐแบบอยุธยาปนอยู่บ้าง ไม่มีปูนสอ รอบโบสถ์ พบกองอิฐวางประจำอยู่ทิศทั้ง 8 เหมือนกับที่พบที่โบราณสถานที่บางแห่งในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ใบเสมาพบแผ่นเดียวที่ดอยพระธาตุ พบแผ่นสัมฤทธิ์มีลวดลายสำหรับประดับองค์ระฆัง แบบเชียงแสน พบพระพุทธรูปแบบสัมฤทธิ์แบบเชียงแสนหลายองค์ ภายในบริเวณเมืองเก่ามีศาลเจ้าอโมกขละ มีวัดเก่าที่ร้างหลายแห่ง และมีเจดีย์เก่าที่สำคัญ คือ พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก ได้บูรณะหลายครั้งเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.2412 มีชาวกระเหรี่ยงชื่อ นายพะสุแฮ ได้ศรัทธา ทำการบูรณะพระเจดีย์องค์นี้จนเป็นผลสำเร็จต่อมาปี พ.ส. 2470 พระอภิชัย (ปี๋) หรือ ประขาวปี๋ ได้บูรณะขึ้นใหม่โดยทำเป็ฯเจดีย์ทรางสี่เหลี่ยมและมีงานประเพณี สรงน้ำพระธาตุ ในวันที่ 19 เมษายนของทุกปี เรียกว่า วันน้ำทิพย์ของชาวบ้านแม่ด้าน บริเวณใกล้เคียงเรียกว่า โบราณสถานทุ่งกากอกพบโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ มีผุ้พบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ แบบเชียงแสนกว่า 400 องค์ กำแพงก่อเป็นเทินดิน 2 ชั้น มีคูคั่นหนอง ซึ่งเชื่อกันว่าขุดเอาดินไปทำอิฐ อิฐที่โบสถ์ วิหาร และเจดีย์เป็นแบบสุโขทัย เนื้อข้าวไม่มีแกลบก่ออ้วยปูนสอ พบก้อนหินอยู่รอบโบสถ์ซึ่งเข้าใจว่าใช้แทนใบเสมา
 
:: บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก ::
เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อุณหภูมิวัดได้ 60 องศาเซลเซียส สามารถเที่ยวชมได้ตลอดปี 

การเดินทาง
 ใช้ทางหลวงหมายเลข 1206 สายพบพระ - บ้านช่องแคบ (ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกพาเจริญ) มีทางแยกขวาก่อนเข้าอำเภอพบพระแล้วให้แยกขวาทางไปหมู่บ้านห้วยน้ำนัก
 
:: น้ำตกนางครวญ ::
เดิมชื่อ น้ำตกเพอะพะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น น้ำตกพบพระ และเปลี่ยนมาเป็นชื่อ น้ำตกนางครวญ เป็นน้ำตกขนาดกลางไหลลดหลั่นลงไปเป็นชั้นเล็กๆ ท่ามกลางป่าร่มรื่น มีต้นน้ำมาจากลำคลองริมท้องนาข้างทาง และทางการได้ตัดถนนผ่านตัวน้ำตกจึงแลดูเป็นน้ำตกเล็กๆ 

การเดินทาง
 ใช้เส้นทางหลวงสาย 1090 พอถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 31 - 32 มีทางแยกขวามือเข้าอำเภอพบพระ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1206 ที่อยู่ริมสะพานคอนกรีตด้านขวาบริเวณกิโลเมตรที่ 12 ก่อนถึงอำเภอพบพระเล็กน้อย
 
:: ไร่กุหลาบ อ.พบพระ ::
นับว่ามีพื้นที่ปลูกกุหลาบมากที่สุดในภาคเหนือ มีสายพันธุ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกุหลาบไร้หนาม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกฤดูกาล สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือเขต 4 โทร. 0 55514341 - 3
 
:: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ::
ตั้งอยู่บริเวณป่าแม่ตื่น มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอแม่ระมาด และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีเนื้อที่ 733, 125 ไร่ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสูงชันสลับซับซ้อนมีป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
 
:: พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่ ::
ตั้งอยุ่ท่บ้านวังตะเคียน หมู่ที่ 5 ต.ท่าสายลวด วัดพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ในสถูปเจดีย์ ชาวบ้านเรียกว่า "พญาล่อง" ตั้งอยู่บนภูเขา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญขนาดเล็ก สร้างไว้บนก้อนหินด้วยแรงศรัทธา ในกพระพุทธศาสนา เป็นความมหัศจรรย์จาธรรมชาติลักษณะ เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนชะง่อนผากิ่ว คอดเหมือนจะขาดออกจากกัน ชาวบ้านเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า "เจดีย์หินพระอินทร์แขวน" ประวัติความเป็นมา ใสการสร้างพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้สร้างเป็นชาวกะเหรี่ยงในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า ชื่อว่า นายพะส่วยจาพอได้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้นำเงินตราเหรียญรูปีบรรทุกหลังช้างมาเพื่อหาที่สำหรับ สร้างเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ครั้นมาถึงบริเวณผากินกิ่ว (หรือดินจี่) ได้มองเห็นหินก้อนใหย่โดชะโงกงำตั้ง อยู่บนหน้าผาสูงขัน และมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระอินทร์แขวนในจังหวัดมัณพเลย์ ประเทศพม่า จึงได้ทำการ ก่อสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้นำพระสารีสริกธาตุบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ พร้อมกับพระพุทธรูปทองคำจำนวน 5 องค์ พระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ ตั้งอยู่บนชะง่อนผาสูง มองลงมาข้างล่างจะเห็นทิวทัศน์ในเขตประเทศพม่าชัดเจน หินที่อยู่บน ดอยนี้มีลักษณะสีดำหรือสีนำตาลไหม้ จึงเรียกว่า "พระธาตุดอยดินจี่" ซึ่งหมายถึงดินที่ไฟไหม้ ในราวเดือน กุมภพันธ์ ชาวอำเภอแม่สอด และหม่าจะมีงานนมัสการพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่นี้ทุกปี นอกจากนี้บริเวณ วัดพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ยังมีสิ่งสำคัญคือ เรือโบราณพบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 โดยชาวบ้านวังตะเคียน ได้ช่วยกันกู้ขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่เชิงดอยดินกี่ เป็นเรือท่าขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ขนาดจองเรือกว้าง 126 เมตร ยาว 13.35 เมตร สูง 0.52 เมตร หนา 0.04 เมตร ส่วนหัวเรือและท้ายเรือ มีความยาวเท่ากัน (ประมาณ 1.20 เมตร) ภายในเรือมีช่องสำหรับสอดไม้กระดานเพื่อทำเป็นที่นั่ง จำนวน 4 ช่อง มีระยะห่างไม่เท่ากัน จากรูปและขนาดของเรือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรือที่ใช้ในการขนส่งอาหารหรือสินค้าระหว่างทั้งสองฝั่งแม่น้ำเมย มีอายุประมาณ 200 ปี 

การเดินทาง
 ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 ผ่านหมู่บ้านท่าอาจ และหมู่บ้านวังตะเคียน จะพบทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปพระธาตุหินกิ่ว 3 กิโลเมตร
 
:: น้ำพุร้อนแม่กาษาและถ้ำแม่อุษา ::
การเดินทางไปยังน้ำพถร้อนแม่กาษาและถ้ำแม่อุษานั้น ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 (แม่สอด-แม่ระมาด) แยกขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 13 ผ่านหมู่บ้านแม่กาษาถึงน้ำพุร้อนและถ้ำแม่อุษา ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร จำนวน 2 บ่อ มีอุณหภูมิของน้ำสูง ประมาณ 75 องศาเซลเซียส ปัจจุบันมีห้องบริการอาบน้ำแร่และบ่ออาบน้ำ ซึ่งไม่มีกลิ่นฉุนจากก๊าซกำมะถัน บริเวณโดยรอบบ่อน้ำพุร้อนมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และยังมีถ้ำแม่อุษาที่สวยงาม เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีห้องโถงถึง 13 ห้องที่มีทางเดินถึงกันได้ทุกห้อง ภายในมีหินงอกหินย้อยรูปแบบต่างๆ แต่ละห้องจะมีความสวยงามแปลกตาไม่เหมือนกัน เช่น ห้องเห็ดหลินจือ เพชรพิมาน กำหล่ำแก้ว ธาราแก้ว เสาเอก กาน้ำเจ้าแม่อุษา เป็นต้น ภายในอากาศโปร่งเย็นสบายไม่อับและเป็นที่ อยู่อาศัยของค้างคาวนับล้านตัว ใช้เวลาเดินชมความงดงามภายในถ้ำประมาณ 3 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ศูนย์บริการหมายเลขโทรศัพท์ 0 5555 7190, 0 5555 7133
 
:: น้ำตกแม่กาษา ::
อยู่ที่ตำบลแม่กาษา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทางเดินขึ้นไปบนเขาสูง มีถ้ำ และธารน้ำกว้างประมาณ 5 เมตร เป็นทางจากปากถ้ำถึงน้ำตก

การเดินทาง จากเส้นทางสายแม่สอด - แม่ระมาด (ทางหลวงหมายเลข 105) ประมาณกิโลเมตรที่ 13 - 14 มีป้ายทางเข้าเขียนว่า บ้านแม่กื๊ดสามท่า จากปากทางเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
 
:: ตลาดริมเมย สุดชายแดนไทย - พม่า หรือ สุดประจิมที่ริมเมย ::
ตั้งอยู่ต.ท่าสายลวด สุดทางหลวงหมายเลข 105 (สายตาก - แม่สอด) เป็นสถานที่ติดต่อค้าขายระหว่างไทย-พม่าโดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นเขตชายแดนไทย - พม่า เป็นตลาดขายสินค้านำเข้าจากประเทศอินเดียและจีน ซึ่งตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งค้าขายอัญมณีที่มีชื่อเสียง เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีจากพม่า ซึ่งมีทั้งแปรรูปเป็น อัญมณี เรียบร้อยแล้ว และยังไม่ได้แปรรูปอีกมากมาย ตลอดจนงานหัตถกรรม เฟอร์นิเจอร์ วัตุโบราณจากไม้สัก 

การเดินทาง
 สามารถขึ้นรถสองแถวจากตลาดอำเภอแม่สอดไปตลาดริมเมยทุกวัน โดยลงที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย - พม่า อัตราค่าโดยสารคนละ 10 บาท
 
:: คอกช้างเผือก ::
ตั้งอยู่เขตบ้านท่าอาจ ต.ท่าสายลวด ตามทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก - แม่สอด) ด่อนถึงตลาดริมเมย ประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาผ่านหน้าวัดไทยวัฒนารามตามทางลาดยาง ประมาณ 2 กิโลเมตร คอกช้างเผือกนี้มีลักษณะ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน ปากคอกกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นรูบสอบขนานกันไป ยาวประมาณ 50 เมตร ก่อสร้างในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 88 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 หน้า 21 (ฉบับพิเศษ) มีพื้นที่ 7 ไร่ 87 ตารางวาตามพงศาวดารกล่าวว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีมะกะโท (คนเลี้ยงช้าง) เป็นชาวมอญได้เข้ารับราชการเป็นขุนวังมีโอกาส ใกล้ชิดพระนางสร้อยดาวพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อครั้งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชยกทัพ ไปตีเมืองนครศรีธรรมราช มะกะโทจึงลักลอบพาพระราชธิดาหนีไปอยู่ที่เมืองเมาะตะมะเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้พระราชทานนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว (มีพระราชพงศาวดารพม่าว่า "สมิงวาโร" คำให้การของชาวกรุงเก่า มีพระนามว่า "พระเจ้าวาริหู" ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 และราชาธิราช มีพระนามว่า "พระเจ้าวาโรตะละไตยเจิญภะตาน") ต่อมามีช้างเผือกดุร้ายเชือกหนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเสี่ยง สัตย์อธิษฐานว่า หากช้างเผือกนี้เป็นช้างคู่บารมีของกษัตริย์นครใด ขอให้ช้างเผือกนี้บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงแน่พระทัยว่าช้างเผือกนี้เป็นช้างคู่บารมี ของพระเจ้าฟ้ารั่วจึงให้ทหารนำสาส์นไปแจ้งให้ พระเจ้าฟ้ารั่วมาคอยรับช้างเผือก ครั้นถึงเชิงเขาแห่งหนึ่งมีแม่น้ำขวางกั้น ทหารที่ติดตามช้างเผือกมาจึงทำ พะเนียดล้อมช้างเผือกเอาไว้ เมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วเสด็จมาก็ทำพิธีรับมอบช้างเผือกกัน ณ ที่แห่งนี้
 
:: สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ ::
ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขา บนเทือกเขาถนนธงชัย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 900 เมตร เป็นสถานที่ทดลองวิจัยเมล็ดพันธุ์กาแฟ ชา ผลไม้ ผักต่าง ๆ และดอกไม้เมืองหนาว ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมดอกบัวตองบนเทือกเขา บริเวณที่ตั้งสถานีฯ จะออกดอกบานสะพรั่ง
 
:: ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ::
อยู่ตรงข้ามสนามกีฬาเทศบาลแม่สอด สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2545 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ครั้นเมื่อพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกลง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยเสด็จผ่านด่านแม่ละเมา อ.แม่สอดเป็นแห่งแรก
 
:: ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน ::
ตั้งอยู่ทางขวามือ ทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก-แม่สอด) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 70-71 ศาลนี้เพิ่งสร้างเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อปลายปี 2523 เหตุที่สร้างศาลนี้เล่ากันว่ามีคหบดีผู้หนึ่งเจ็บปวดด้วยโรคอัมพาต มาช้านานแล้วได้ฝันว่ามีผุ้มาบอกให้สร้างศาล แห่งนี้ขึ้นตรง บริเวณที่เป็นศาลปัจจุบัน คหบดีผู้นี้จึงสร้างศาลขึ้นถวาย เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อขุนสามชมนับแต่นั้นมาอาการของคหบดีผู้นั้น ก็เป็นปกติชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือ
ศาลนี้มาก
 
:: เนินพิศวง ::
อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 68 สายตาก - แม่สอด มีลักษณะเป็นทางขึ้นเนินที่แปลก คือเมื่อนำรถไปจอดไว้ตรงทางขึ้น เนินโดยไม่ได้ติดเครื่องรถจะไหลขึ้นเนินไปเอง มีนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ถึงสาเหตุนี้พบว่า เกิดจากเป็นภาพลวงตา เนื่องจากได้มีการวัดระดับความสูงของเนินลูกนี้แล้วปรากฏว่า ช่วงที่มองเห็นเป็นที่สูงนั้น มีระดับความสูงต่ำกว่า ช่วงที่เห็นเป็นทางลงเนิน ดังนั้นรถที่เรามองเห็นไหลขึ้นนั้นที่จริงไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถบอกได้ว่า เหตุใดจึงมองเห็นเป็นภาพลวงตาเช่นนั้นได้
 
:: แม่น้ำเมย (พม่าเรียกว่า แม่น้ำต่องยิน) ::
เป็นเส้นกั้นเขตแดนประเทศไทยกับสหภาพพม่า มีความยาวประมาณ 327 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้ไหลขึ้นมิได้ไหลลง เช่นแม่น้ำทั่วๆ ไป มีต้นน้ำอยู่ที่บ้านมอเกอ ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ แล้วไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง ไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินแล้วไหลลงอ่าวมะตะบันในเขตพม่า

การเดินทาง จากอำเภอแม่สอดใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร สุดเขตแดนไทยถึงแม่น้ำเมย
 
:: ผาสามเงา ::
อยู่ในตำบลย่านรี จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 1107 (เจดีย์ยุทธหัตถี - เขื่อนภูมิพล) ผ่านทางแยกไปเจดีย์ ยุทธหัตถีประมาณ 25 กิโลเมตร หรือถ้าใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 463 จะมีทางแยกซ้ายเข้า เขื่อนภูมิพลไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงอำเภอสามเงา ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง จะมองเห็นขุนเขาใหญ่ลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ผาสามเงา" เพราะเป็นที่เชิงเขาริมหน้าผานั้นเจาะเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อภูเขาเรียงกัน 3 ช่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองช่องละองค์ มีบันไดไม้ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปได้ จากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.1206 มีพระฤาษีสององค์สร้างเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) และให้คนมาทูลเชิญราชวงศ์กษัตริย์จากเมืองละโว้หรือลพบุรีในปัจจุบัน ไปครองเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวี ได้รับมอบหมายให้ไปครองเมืองตามคำเชิญ พระนางจึงเสด็จมาทางชลมารค ขึ้นมาตามลำน้ำปิงปรากฏว่าเมื่อมา ถึงบริเวณหน้าผาแห่งนี้เกิดเหตุมหัสจรรย์มีฝนและพายุใหญ่พัดกระหน่ำจนเืรือไม่สามารถแล่นทวนน้ำขึ้นไปได้และ ปรากฏเงาพระพุทธรูปสามองค์ที่หน้าผาริมน้ำปิงแห่งนี้ ระนางจึงสั่งให้เจาะหน้าผาและสร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ในช่อง ช่องละองค์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า "ผาสามเงา" สืบมา
 
:: ดอยสอยมาลัย ::
ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600 เมตร สิ่งที่น่าสนใจ คือ สลาแมนเดอร์ หรือ จิ้งจกน้ำ สัตว์น้ำดึกดำบรรพ์ที่หายาก ลักษณะเหมือนจิ้งจก ลำตัวสีชมพู พื้นที่ทั่วไปมีสภาพเป็นป่าสนเมืองหนาว มีจุดชมวิว และชมทะเลสาบยามเช้าที่สวยงาม จุดกางเต็นท์พักแรมมี 3 จุด คือ หน่วยต้นน้ำเขื่อนภูมิพล บริเวณยอดสอยมาลัย หน่วยจัดการต้นน้ำกรมป่าไม้

การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าไป อ.บ้านตาก 22 กม. เลี้ยวซ้ายเข้า อ.บ้านตาก ข้ามแม่น้ำปิง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1175 ประมาณ 40 กิโลเมตร แยกเจ้าทางลูกรังไปประมาณ 10 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น โทร. 0 5551 9609 หรือ กรมอุทยานฯ โทร. 0 2562 0706 

หมายเหตุ
 ก่อนขึ้นพิชิตหลังคาเมืองตาก ต้องขออนุญาตจากหน่วยพิทักษ์ป่าเกี่ยวสามล้อก่อนทุกครั้ง ซึ่งเลยปากทางขึ้นดอยไปประมาณ 2 กม. และพาหนะเดินทางต้องเป็น รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆทั้งสิ้น
 
:: เจดีย์ยุทธหัตถี หรือ เจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ::
หรือเจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช หรือ ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจดีย์ชนช้าง ตั้งอยู่บนดอยช้าง ตำบลเกาะตะเภา ดอยช้างเป็นเนินดินเล็ก ๆ อยู่ทางเหนือของดอยพระธาตุไปเล็กน้อย เจดีย์นี้เป็นโบราณสถาน สร้างในสมัยสุโขทัยมีอายุราว 700 ปีเศษ องค์เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่เยื้องกับวัดพระบรมธาตุประมาณ 200 เมตร ลักษณะของเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นศิลปะแบบสุโขทัยคล้ายกับองค์อื่นๆ ทั่วไปในเมืองสุโขทัย ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 12 เมตร เป็นเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขึ้นไป สูง 16 เมตร เหนือเรือนธาตุทำเป็นลำสี่เหลี่ยมย่อมุมตลอดถึงยอดที่เป็น ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ยอดสุดมีฉัตร มีร่องรอยการซ่อมแซมตลอดมา แต่ไม่เสียรูปทรงเดิม ฐานพุ่มมีลายปั้นเป็น รูปหน้าสิงห์ สวยงาม หน้าสิงห์ด้านทิศเหนือยังสมบูรณ์ ด้านอื่นๆ ชำรุด งค์เจดีย์ส่วนใหญ่มีคราบตะไคร่น้ำจับอยู่ทั่วไป จะมีการขุดแต่ง และทำความสะอาดรอบบริเวณเจดีย์ในช่วงใกล้วันเทศกาล เป็นงานเดียวกับงานไหว้พระธาตุบ้านตาก จากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกล่าวว่า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ได้ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ทรงบกทัพมาป้องกันเมืองตาก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โอรสเสด็จติดตามไปด้วย และพทัพทั้งสองได้ปะทะกัน ณ ที่แห่งนี้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงได้ไสช้าง เบิกพลเข้าช่วยจนได้รับชัยชนะจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติในการทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ
 
:: ประติมากรรมกระทงสาย ::
ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือเขต 4 เป็นสวนสาธารณะที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ งานประเพณีลอยกระทงสาย ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวเมืองตากมีความภาคภูมิใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่หาชมได้แห่งเดียวในประเทศไทย
 
:: ตรอกบ้านจีน ::
ตั้งอยู่ที่ถนนตากสิน ใกล้วัดสีตลาราม ตำบลระแหง เป็นชุมชนการค้าขายที่รุ่งเรืองมากในอดีต โดยมีชาวจีนชื่อ "จีนเต็ง" ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ มาทำการค้าขายไปถึงเชียงใหม่ และได้ขยายกิจการลงมาถึงเมืองตาก ได้เข้าหุ้นส่วนค้าขายกับพ่อค้าจีนอีกสองคนชื่อ "จีนบุญเย็น" และ "จีนทองอยู่" ต่อมาได้เข้าเกี่ยวพันกับระบบราชการไทยกล่าวคือ "จีนบุญเย็น" ได้รับแต่ตั้งเป็น "หลวงนราพิทักษ์" ปลัดฝ่ายจีนเมืองตาก แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็น "หลวงจิตรจำนงค์วานิช" สังกัดกรมท่าซ้าย ส่วนจีนทองอยู่ได้เป็นหลวงบริรักษ์ประชากรกรมการพิเศษเมืองตาก อากรเต็งและหุ้นส่วนทั้งสองใช้ยี่ห้อการค้าว่า "กิมเซ่งหลี" ห้างกิมเซ่งหลีได้เข้ารับช่วงผูกขาดการจัดเก็บภาษีอาการ ที่เมืองเชียงใหม่จึงได้นำพวกคนจีนเข้ามาอยู่ละแวกบ้านนี้ และได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวเมืองตากชื่อ "นางก้อนทอง" มีบุตรชายหนึ่งคนและตั้งบ้านเรือนทำการค้าขายขยายวงขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 "จีนเต็ง" ได้มอบหมายให้ "หลวงบริรักษ์ประชากร" (จีนทองอยู่) เป็นผู้จัดเก็บภาษีฝิ่น อากรสุรา บ่อนเบี้ย และหวย ก.ข. จนกระทั่ง พ.ศ. 2452 รัฐบาลเริ่มเข้ามาจัดเก็บเอง ภายหลังละแวกหมู่บ้านนี้จึงมีแต่ลูกหลานจีนดำเนินการค้าขาย ปลูกบ้าน ร้านค้า เริ่มมีถนนหนทางแต่เป็นเพียงทางเดินเท้า ร้านค้าจะมีของขายทุกอย่าง ในซอยตรอกบ้านจีนจะมุงหลังคาบ้านชนกัน จึงเป็นท่ร่มใช้เดินถึงกันได้ตลอด มีร้านขายถ้วยชาม ร้านผ้า ร้านหนังสือเรียน ร้านเครื่องอัฐบริขารในการบวชพระ สถานที่ควรพูดถึงในสมัยนั้น คือ สะพานทองข้ามปากคลองน้อยซึ่ง "คุณย่าทอง ทองมา" เป็นผู้สร้างและม่เสาโทรเลขซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่า เสาสูง ต่อมามีการปกครองในระบอบประขาธิไตย "นายหมัง สายชุ่มอินทร์" ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรคนแรก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกนั้น ตรอกบ้านจีนในสมัยนั้นมี 3 หมู่บ้าน หมู่บ้านเสาสูง หมู่บ้านปากครองน้อย หมู่บ้านบ้านจีน ต่อมาปี 2495 ทางเทศบาลได้รื้อสะพานทองและถมเป็นถนน เริ่มมีรถยนต์ใช้และหมู่บ้านก็เริ่มกั้นเขตแดนล้อมรั้ว ปี 2497 มีรถยนต์เล็กๆ วิ่งเข้าออกได้ ตรอกบ้านจีนเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2484 ร้านค้าเปิดอพยพไปอยู่ที่อื่นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง การค้าขายจึงได้ขยายขึ้นไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันบ้านจีนจึงเหลือแต่บ้านเก่าๆ ซึ่งยังคงลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเดินทางเที่ยวชมสภาพบ้านเรือนโดยรอบและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชุมชนตรอกบ้านจีน
 
:: หนองน้ำมณีบรรพต ::

อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ใกล้วัดมณีบรรพตวรวิหาร และโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หนองน้ำแห่งนี้เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่มีพื้นที่กว่า 60 ไร่ ภายในบริเวณร่มรื่นด้วย พันธุ์ไม้ต่างๆ มีศาลาพักผ่อน ปัจจุบันเทศบาลเมืองตากได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะหนองมณีบรรพต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามกลางเมืองตาก เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นทีพักรถของนักท่องเที่ยว
 
:: ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยผลิตตาก ::
อยู่ที่บ้านมูเซอ หมู่ 6 ตำบลแม่ท้อ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและให้ความรู้ทางด้านการเกษตา (Agro-tourism) แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนผู้สนใจทั่วไปโดยดำเนินการค้นคว้าทดลองและวิจัยพืชสวนต่างๆ ทั้งพืชเมืองร้อนและกึ่งเมืองร้อน อาทิเช่น กาแฟ อโวคาโด้ มะคาเดเมียนัท ชา ลิ้นจี่ กุหลาบ กล้วยไม้ป่า หน้าวัว พืชผักพื้นเมือง และพืชสมุนไพร เช่น วานิลา อบเชย กระวานไทย กระวานเทศและอื่นๆ มากกว่า 252 ชนิดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่ตั้งเรือนประทับทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คร้งเสด็จทรงงานที่จังหวัดตากอีกด้วย 

การเดินทาง
 ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก - แม่สอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 26 - 27 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืขและปัจจัยการผลิตตาก ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก 63000
โทร. 0 5551 2131, 0 5551 4034
 
:: หาดทรายทองแม่ปิงเมืองตาก ::
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตำบลป่ามะม่วง ตรงข้ามตัวเมืองตาก เป็นหาดทรายที่สร้างขึ้นทอดตัวยาวตลอดแนว แม่น้ำปิงมีความยาวถึง 1.5 กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีต้นไม้ ร่มรื่น ทรายขาว สะอาดไม่แพ้ชายทะเล เป็นสถานที่พักผ่อนและเล่นน้ำของชาวเมืองตาก นักท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยว และเล่นน้ำได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงทะเล นังหวัดตากได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ห่วงยาง เก้าอี้ ชายหาดไว้ให้เช่า อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำทุกชนิดนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองตากทุกคน
 
:: ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ::
ตั้งอยู่เชิงสะพานกิตติขจร ก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นเมืองเก่ามีมา ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกรง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ที่เชิงสะพาน กิตติขจร และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตากเพื่อเป็นการรำลึก ถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราช ทั้งสี่พระองค์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก จึงได้จัดสร้างศาล หลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2535
 
:: สะพานแขวนสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ::
เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เพื่อเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำปิงระหว่างเทศบาลเมืองตาก และตำบลป่ามะม่วง ซึ่งในอดีตสามารถใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์สัญจร แต่ปัจจุบันเป็นสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำปิง และมีการประดับไฟสวยงามมากในยามค่ำคืน โครงสร้างของสะพานมีขนาดความกว้าง 250 เมตร ยาว 400 เมตร ฐานรากและจุดพื้นเป็นไม้โยงยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่
 
:: ริมสายธารลานกระทงสาย ::
ตั้งอยู่ริมถนนกิตติขจร ตำบลหนองหลวง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออก ตลอดทั่งแนวเป็นสวนสาธารณะ พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองตาก ซึ่งช่วงยามเย็นจะมองเห็นพระอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขาสวยงามมาก และเป็นที่จัดกิจกรรมงานประเพณีลอย กระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง และบริเวณเดียวกันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ คลาดกลางตากสินและหอกิตติคุณ ซึ่งเป็นอาคารเอนกประสงค์ใช้จัดนิทรรศการงานสำคัญต่างๆ ของจังหวัด
 
:: ศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดตาก ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลพะวอ บนดอยมูเซอ อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ ศูนย์ฯ นี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 800 ฟุต เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25 - 26 มีเนื้อที่ทั้งหมด 26,500 ไร่ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอยมูเซอ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ม้ง หรือแม้ว และลีซอ ปัจจุบันชาวเขาที่อาศัยอยู่ใน ประเทศไทยส่วนใหญ่จะอพยพมาจากมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน และเมืองปันในเขตรัฐฉานของสหภาพพม่า รวมทั้งเขตเชียงตุงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น