วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เพรชบูรณ์

 เที่ยวน้ำหนาวฤดูฝน ไปยลกล้วยไม้ยักษ์ เอื้องบุษราคัม ::
เที่ยวน้ำหนาวฤดูฝน ไปยลกล้วยไม้ยักษ์ เอื้องบุษราคัม

น้ำหนาว รู้จักกันดีว่าป่าเปลี่ยนสีสวยสุดยามต้นฤดูหนาว แต่ใครจะรู้ว่าช่วงต้นฤดูฝนบนภูกุ่มข้าวซึ่งมีทุ่งหญ้าและป่าสนสวยที่สุดของน้ำหนาว ที่นี่มีสิ่งมหัศจรรย์ซ่อนอยู่ต้องไปดูคือ กล้วยไม้ยักษ์เอื้องบุษราคัม ซึ่งความสูงใหญ่ของมันอาจสูงได้เกิน 2 เมตร ช่อดอกเหลืองอร่ามราวบุษราคัมตามชื่อเรียก
 
:: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ::
อยู่ที่ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เสาหลักเมืองเป็นเสาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาจากเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2447 เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณแบบทวารวดีและขอม คาดว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 – 12 ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เยื้องตรงข้ามเสาหลักเมือง จะมองเห็นมะขามยักษ์สีทอง ผลไม้สัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งอยู่สวยงาม
 
:: เขาค้อ ::
  
เป็นชื่อเรียกรวมทิวเขาน้อยใหญ่ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอเขาค้อ เหตุที่เรียกกันว่า เขาค้อ เป็นเพราะป่าบริเวณนี้มีต้นค้อขึ้นอยู่มาก เนื่องจากภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นตลอดปี ค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาว และมีทัศนียภาพสวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ เขาค้อประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ยอดเขาค้อ มีความสูงประมาณ 1,174 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เขาย่าสูง 1,290 เมตรและเขาใหญ่ สูง 865 เมตร นอกจากนั้นยังมีเขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทราย และเขาอุ้มแพ ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้เป็นป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบ ที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง 

สถานที่น่าสนใจบนเขาค้อ
 อนุสาวรีย์จีนฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาจากหน่วยรบกองพลที่ 93 ซึ่งมาช่วยรบในพื้นที่เขาค้อ และเสียชีวิตในการสู้รบ ตั้งอยู่เลยกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย

 ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) อยู่เลยกิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงหมายเลข 2196 (ไปเล็กน้อย แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2323 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นจุดหนึ่งที่เห็นทิวทัศน์สวยงามและเคยเป็นฐานสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอดีต ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ จัดแสดงปืนใหญ่ ซากรถถัง และอาวุธที่ใช้สู้รบกันบนเขาค้อ มีห้องบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท

 อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ อยู่บนยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ อยู่เลยฐานอิทธิ ไปอีก 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของพลเรือน ทหาร ตำรวจ ทหาร ผู้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้องพื้นที่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 - 2525 โดยสร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมสูง 24 เมตร หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหารในปี พ.ศ. 2524 ผนังภายในบันทึกประวัติอนุสรณ์สถานและรายชื่อวีรชนผู้เสียสละไว้ด้วย การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2196 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 28 ไปเล็กน้อย มีทางแยกขวาไปเส้นทางหมายเลข 2323 ประมาณ 3 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร

 พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อ ติดกับสำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชาจะมีประชาชนเดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำพิธีเวียนเทียนเป็นประจำ

 หอสมุดนานาชาติเขาค้อ ตั้งอยู่ที่เดียวกับเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในเก็บรักษาหนังสือทั้งภาษาไทยและ ภาษาต่างประเทศ ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน "วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ" โดยเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด

 เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ ตั้งอยู่บนยอดเขาติดกับหอสมุดนานาชาติเขาค้อ บ้านกองเนียม หมู่ที่ 4 ตำบลเขาค้อ ที่ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ 50 ปี และเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียน

 พระตำหนักเขาค้อ ตั้งอยู่บนเขาย่า พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริและทรงตรวจเยี่ยม ราษฎรอำเภอเขาค้อและอำเภอใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลมมีทั้งหมด 15 ห้อง รูปทรงแปลกตาไปจากพระตำหนักอื่น สามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าชมบริเวณโดยรอบพระตำหนักได้ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2196 พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 29 ให้ไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีทางแยกด้านซ้ายไปพระตำหนัก ทางขึ้นเขาค้อค่อนข้างสูงชัน รถยนต์ควรมีสภาพดี และกำลังเครื่องยนต์สูง

การเดินทาง จากเพชรบูรณ์ไปเขาค้อใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์ - หล่มสัก) ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีก 30 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก - หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 100 (บ้านแคมป์สน) เลี้ยวซ้ายเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างแคบและลาดชัน ควรใช้รถปิคอัพหรือรถตู้สภาพดี นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถเช่ารถสองแถวได้ที่ปากทางขึ้นเขาค้อ บริเวณแคมป์สน กิโลเมตรที่ 100 ในราคาวันละประมาณ 600 บาท มีรถจอดคอยให้บริการตั้งต่เวลา 08.00 - 17.00 น. หรืออาจเช่ารถสองแถวที่บริเวณตลาดเทศบาล ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ราคาวันละประมาณ 800 บาท 

ที่พักบนเขาค้อ
 มีให้เลือกหลายแห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตำบลทุ่งสมอและแคมป์สน ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวบนเขาค้อประมาณ 30 กิโลเมตร ที่พักที่อยู่ใกล้ที่สุดได้แก่ บ้านพักทหารม้า กิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงสาย 2196 กองพลทหารม้าที่ 28 และเรือนพักผู้ติดตามอยู่ใกล้กับพระตำหนักเขาค้อและเขาย่า นอกจากนี้ยังมีรีสอร์ทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางขึ้นเขาค้อ
 
:: น้ำตกศรีดิษฐ์ ::
เป็นน้ำตกหินชั้นขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เคยเป็นที่อยู่ของ ผกค. มาก่อน สิ่งที่น่าสนใจคือ ครกตำข้าวพลังงานน้ำตกที่ ผกค.สร้างไว้

การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข 2196 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 17 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2325 อีกประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าน้ำตก
 
:: เนินมหัศจรรย์ ::
อยู่ที่บริเวณ กิโลเมตรที่ 17.5 ถนนสายนางั่ว - สะเดาะพง (ทางหมายเลข 2258) เมื่อขับรถมาถึงตรงนี้ และดับเครื่องรถจะถอยหลังขึ้นเนินได้เอง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดจากภาพลวงตา เพราะในความเป็นจริงเมื่อวัดระดับความสูงของพื้นที่สองจุดแล้ว ความสูงของเนินจะมีระดับต่ำกว่าช่วงที่เป็นทางขึ้นเนิน
 
:: ไร่ บี เอ็น ::
เป็นไร่ที่นักท่องเที่ยวมักแวะมาซื้อพืชผัก ผลไม้เมืองหนาวสด ๆ นานาชนิดตามฤดูกาล เช่น บรอคคอรี่ ฟักแม้ว ผักกาดแก้ว มะเขือม่วง มะระหวาน สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ น้อยหน่าออสเตรเลีย แมคคาเดเมียนัท อโวคาโด ลูกพลับ ผลไม้แปรรูปทั้งอบแห้ง กวน แช่อิ่ม และแยม รวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด เช่น เบิร์ด ออฟ พาราไดซ์ ดาหลา ตระกูลเฮลิโกเนีย นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสวนเกษตรภายในแปลงผัก พันธุ์ไม้ของไร่ได้

การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 12 เส้นพิษณุโลก - หล่มสัก หลักกิโลเมตรที่ 100 บริเวณบ้านแค้มป์สน แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2196 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นป้ายแสดงทางเข้าไร่และแยกขวาไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เปิดให้ชมทุกวันระหว่างเวลา 08.30 - 17.00 น. โทร. 0 5675 0419 โทรสาร 0 5675 0420
 
:: ภูทับเบิก ::
ตั้งอยู่ที่บ้านทับเบิก ต.วังตาล ห่างจากอ.หล่มเก่า 40 กม.ตามเส้นทางจากหล่มเก่าไปภูหินร่องกล้า หรือห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 97 กม. ภูทับเบิกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเพชรบูรณ์ มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามด้วยธรรมชาติแบบทะเลภูเขา มีอากาศบริสุทธิ์ สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากร่องลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัยและอยู่บนที่สูง จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยช่วงเช้าจะมองเห็นกลุ่มเมฆ และทะเลหมอกตัดกับยอดเทือกเขาเพชรบูรณ์ บริเวณจุดชมวิวมีหน่วยพิทักษ์ฯ ของอุทยานภูหินร่องกล้าตั้งอยู่ นอกจากนี้ภูทับเบิกยังเป็นสถานที่ที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ คือเป็นจุดรองรับน้ำฟ้ากลางหาว (เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542) เพื่อนำไปรวมเป็นน้ำเพชรน้อมเกล้าถวายเป็นน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ปัจจุบันภูทับเบิกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ต.วังตาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยอยู่ในความดูแล ของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยอาชีพทำการเกษตรแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา ในช่วงฤดูหนาวจะพบเห็นไร่กะหล่ำปลีอยู่สองข้างถนนสู่ทับเบิกสวยงาม จากสภาพดังกล่าว จึงทำให้ภูทับเบิกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่นิยมสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชนชาวเขา และแหล่งธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กำลังมีกระแสความนิยมอยู่ทั่วไป ภายใต้คำกล่าวที่ว่า "นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน" 

การเดินทางสู่ภูทับเบิกจากเพชรบูรณ์
 ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณ 40 กม. ถึงสี่แยกหล่มสัก ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก ถึงอำเภอหล่มเก่า 17 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 2011 และทางหลวงหมายเลข 2331 อีก 40 กม. รวมระยะทางจากจังหวัดเพชรบูรณ์ถึงบ้านทับเบิก ประมาณ 97 กม.เส้นทางจากหล่มเก่ามาภูทับเบิกจะสูงชันและคดเคี้ยวมาก ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง รือจะใช้เส้นทางจากอำเภอนครไทยผ่านภูหินร่องกล้าเพื่อมายังอ.หล่มเก่า ก็จะผ่านภูทับเบิกได้เช่นกันซึ่งเส้นทางนี้จะมีความลาดชันน้อยกว่าเส้นทางแรก โดยห่างจากที่ทำการอุทยานภูหินร่องกล้าประมาณ 35 กิโลเมตร

ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพัก 3 หลัง พักได้หลังละ 6-10 คน ราคาหลังละ 400 บาท นอกจากนี้ยังมีเต็นท์และเครื่องนอนให้เช่า มีร้านอาหารบริการ และบริการรถยนต์นำเที่ยว คันละ 900 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภูทับเบิก call center โทร. 0 5670 9465 นอกจากนี้สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้หลังละ 10 คน ราคาคนละ 50 บาท เต็นท์ให้เช่า พักได้ 3 คน ราคา 200 บาท ในกรณีที่นำเต็นท์ไปเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ ราคา 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. 0 5670 1736, 0 5671 8284 - 5, 0 1680 0223
 
:: ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าโรง ห่างจากที่ว่าการอำเภอวิเชียรบุรีไปประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 เส้นหล่มสัก - สระบุรี เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งชาวอำเภอวิเชียรบุรีร่วมใจกัน ก่อสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อ ครั้งที่เสด็จยกกองทัพไปตีทัพเขมรที่เมืองวิเชียรบุรีแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จมาทำพิธี บวงสรวงดวงพระวิญญาณ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 ทางอำเภอจัดงานเฉลิมฉลองศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นในวันกองทัพไทย ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคมของทุกปี
 
:: ดอกทานตะวัน ::
ทุ่งดอกทานตะวันที่เพชรบูรณ์นี้จะให้ทัศนียภาพที่ต่างจากแหล่งอื่นตรงที่จะบานอยู่บนเนินเขาเป็น คลื่นทะเลดอกไม้เหลืองอร่าม ตัดขอบฟ้าสีครามที่สวยงามสุดสายตา จะอยู่บริเวณเขาหลวงทอง ชาวบ้านปลูกขึ้นที่หมู่ 2, 5, 6, 9 และปลูกมากที่สุดหมู่ที่ 8 บ้านป่ายาง ต.สระแก้ว นิยมปลูกกันในช่วงปลายฤดูฝนด้นฤดูหนาว หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าโพดที่ปลูกเป็นอาชีพหลัก โดยจะเริ่มหว่านเมล็ดทานตะวันในช่วงปลายเดือนกนยายน และจะงอกเงยเจริญเติบโตตามระยะเวลา จนกระทั่งออกดอกบานสะพรั่งเต็มที่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ท่ามกลางเนินเขาสูงต่ำสลับกันมองดูสุดสายตานับหมื่นไร่ ในบางปีหาฝนตกชุกจะส่งผลให้ ดอกทานตะวันมีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งเคยมีขนาดใหญ่ที่สุดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 17 นิ้ว หลังจากนั้นจะเป็นการเก็บเกี่ยวเมล็ดดอกทานตะวัน ซึ่งนำไปแยกเมล็ดน นำไปผ่านกรรมวิธีผลิตเป็นน้ำมันพืชทานตะวันที่ใช้ปรุงอาหารตามครัวเรือนทั่วไป 

การเดินทาง
 จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (หล่มสัก - สระบุรี) ลงไทงจ.สระบุรี เมื่อถึงสี่แยกราหุล ช่วง กม. 146 - 147 ใช้ทางหลวงหมายเลข 225 เส้นทางไปจังหวัดชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เมื่อถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 14 จะพบทางสี่ (บ้านซับบอน) ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทาง รพช.ที่ 2102 (ซับบอน - เขาพลวง)ไปอีกประมาณ 16 กิโลเมตรจะพบบริเวณทุ่งดอกทานตะวันที่สวยงาม
 
:: บึงสามพัน ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลซับสมอทอด ห่างจากที่ว่าการอำเภอบึงสามพันประมาณ 5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 323 ไร่ มีลักษณะเป็นลำคลองยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีน้ำใสตลอดทั้งปี เป็นบึงที่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม แหล่งเพาะพันธุ์ปลา ที่บริเวณริมบึงมีร้านอาหารไว้บริการด้วย และในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีทางอำเภอบึงสามพันจัดให้มีการแข่งขันเรือยาว ประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้ทางหมายหลวงเลข 21 ผ่านบ้านวังชมภู ผ่านอำเภอหนองไผ่ สู่อำเภอบึงสามพันตรงสีแยกไฟแดง บริเวณกิโลเมตรที่ 340 - 341 มีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายเข้าบึงสามพันไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร
 
:: ตะวันบานบนภูที่บึงสามพัน ::
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ที่บ้านเขาหลวง บ้านป่ายาง ตำบลสระแก้ว มีการปลูกทานตะวันบนภูเขาหลวง ครอบคลุมพื้นที่กว่าหมื่นไร่ เมื่อดอกทานตะวันบานในตอนเช้าภูเขาบริเวณนี้จะกลายเป็นทุ่งทานตะวันมีสีเหลืองอร่ามสวยงาม ในช่วงเดือนธันวาคมทางอำเภอบึงสามพันได้จัดงาน "ตะวันบานบนภูที่บึงสามพัน" ภายในงานมีการจัดประกวดดอกทานตะวันที่ใหญ่ที่สุด การประกวดธิดาตะวัน การแปรรูปเมล็ดทานตะวัน และการจำหน่าย ผลผลิตทางการเกษตร การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอหนองไผ่ ไปจนถึงสี่แยกราหลุให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 225 ไปทางจังหวัดชัยภูมิอีก 18 กิโลเมตร ถึงสี่แยกซับบอนให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร ถึงบริเวณบ้านป่ายางจะเห็นไร่ทานตะวันนับหมื่นไร่
 
:: สวนรุกขชาติซับชมภู ::
ตั้งอยู่ที่บ้านซับชมภู หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านโภชน์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีพื้นที่ 180 ไร่ เป็นแหล่งความรู้ทางพฤกษศาสตร์มีทั้งป่าไม้เบญจพรรณ สมุนไพรนานาชนิด ภายในสวนรุกขชาติตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม มีน้ำตก 3 แห่ง ได้แก่ น้ำตกหินงาม น้ำตกไทรงาม และน้ำตกธารงาม การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านบ้านวังชมภูทางไปอำเภอหนองไผ่ ประมาณกิโลเมตรที่ 156 แล้วแยกเข้าทางสายบ้านโภชน์ - วังปลาไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. 0 5671 1446
 
:: ดงรอยเท้าไดโนเสาร์ ::
พบรอยเท้าไดโนเสาร์บนหน้าผาหินทราย บริเวณเชิงเขาในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขตรอยต่อกับ ป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว หมู่ที่ 5 บ้านนาสอพอง ต.น้ำหนาว พบรอยเท้าประมาณ 300 รอย มึความลึกประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีระยะระหว่างก้าเดิน 70 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่ามีไดโนเสาร์ไม่น้อยกว่า 2 ตัว วัดขนาดรอยเท้ายาวประมาณ 12 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว เป็นรอบที่มี 3 นิ้ว ในขณะที่ส่วนปลายมีร่องรอยของเล็บที่แหลมคม ซึ่งเป็นลักษณะของไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินด้วยสองขาหลังเป็นหลัก 

การเดินทาง
 ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2216 ห้วยสนามทราย - น้ำหนาว - กกกะทอน ถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19 - 20 จะมีทางแยกข้างหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.5 (นาพอสอง) เป็นถนนลูกรังซึ่งเป็นเส้นทางเข้าน้ำตกตาดพรานบา เข้าไปราว 3 กิโลเมตร จะมีถนนแยกด้านซ้ายระยะทางราว 2 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าลัดเลาะไปตามสันไหล่เขาเข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตรจึงจะถึงแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ รถยนตร์ควรเป็นชนิดขับเคลื่อนสี่ล้อ และหลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปหากมีฝนตก เพราะเส้นทางขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและบุกเบิก อาจเกิดอันตรายได้
 
:: หลักเมืองหล่มเก่า ::
ตั้งอยู่ที่สี่แยกบุ่งน้ำเต้า ตำบลบุ่งน้ำเต้า หลักเมืองนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2487 เป็นหลักเมืองที่ทำด้วยซีเมนต์ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นประธานทำพิธีฝังหลักเมืองเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2487 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปถ้ำฤาษีสมบัติแต่อยู่ทางแยกขวามือปากทางเข้าสนามบินเพชรบูรณ์
 
:: ถ้ำฤาษีสมบัติ ::
ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำสมบัติ ตำบลบุ่งน้ำเต้า อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ ๓๖ กิโลเมตร เมื่อครั้งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 และได้ตั้งกระทรวงการคลังขึ้นที่ถ้ำฤาษีสมบัติซึ่งใช้เป็นที่เก็บสมบัติของแผ่นดินในสมัยนั้น ในปัจจุบันสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารไม่ปรากฏนอกจากถ้ำซึ่งมองเห็นเป็นร่องรอยการก่อสร้าง การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ระหว่างกิโลเมตรที่ 251 - 252 จะมีป้ายบอกทางเข้าถ้ำสมบัติตรงทางแยกซ้ายมือตรงข้ามกับทางเข้าสนามบินเพชรบูรณ์ เข้าไปประมาณ 6.5 กิโลเมตร
 
:: อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ::
ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง (สี่แยกหล่มสัก) พระรูปทำด้วยโลหะในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักลงดิน พระหัตถ์ซ้ายชี้ลงพื้น พ่อขุนผาเมือง (เจ้าเมืองราด) ผู้ทรงร่วมสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 1800 ได้ทรงร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางพระสหายนำไพร่พลทำสงครามขจัดอำนาจการปกครองของขอมให้พ้นจากดินแดนสุโขทัย และได้ทรงสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ถวายพระนามว่า "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่สักการะของชาวเพชรบูรณ์และผู้เดินทางผ่านไปมาบนเส้นทางนี้
 
:: อ่างเก็บน้ำรัตนัย ::
หรืออ่างเก็บน้ำบ้านรัตนัย 1 อยู่บนทางหลวงหมายเลข 2325 เลยกิโลเมตรที่ 5 ไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นทางเข้าอ่างเก็บน้ำทางด้านซ้ายมือ เข้าไปตามทางเดินอีกประมาณ 400 เมตร อ่างเก็บน้ำรัตนัยเป็นอ่างเก็บน้ำความจุ 2,020,000 ลูกบาศก์เมตร บนเนื้อที่ 1,600 ไร่ มีอาคารระบายน้ำล้น กว้าง 15 เมตร พร้อมทำนบดิน สูง 15 เมตร ยาว 250 เมตร ในบริเวณอ่างเก็บน้ำมีลักษณะคล้ายทะเลสาบ ในตอนเย็นจะมีลมพัดเย็นสบายเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน
 
:: สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ ::
ตั้งอยู่ที่ 51 หมู่ 3 ตำบลสะเดาพง เป็นสถานที่ทดลองปลูกไม้เมืองหนาวจากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ภายในสถานีได้ปลูกไม้เมืองหนาวนานาชนิด เช่น พลับฝาด พลับเนคตาซีน แมคคาเดเมียนัท กาแฟ มะกอกน้ำ นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะเข้าชมภายในสถานีทดลองการเกษตรที่สูงเขาค้อจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้า 1 สัปดาห์ และสามารถจองเต็นท์ได้ในราคา 250 บาท พักได้ 4 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0 5672 3056 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ เพชรบูรณ์
 
:: ศูนย์กลางวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งตนเอง (ศวต.) หรือ เขาค้อทะเลภู ::
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อเพชรบูรณ์มีบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้หลังละ 10 คน หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ๖๗๒๗๐ โทร. ๐ ๖๘๘๗ ๗๓๙๓ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บางเขน กรุงเทพ โทร. 0 2561 4292 ต่อ 713, 0 2579 9630 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร
 
:: สวนสัตว์เปิดเขาค้อ ::
ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีทั้งสัตว์ที่ปล่อยตามธรรมชาติและสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในกรง หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าโครงการสวนสัตว์เปิดเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
 
:: แก่งบางระจัน ::
แก่งบางระจัน บ้านหนองแม่นา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแหล่งธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ต.หนองแม่นา กิจกรรมการท่องเที่ยว เริ่มต้นด้วยการนั่งรถ หรือเดินจากบริเวณหมู่บ้านไปยังบริเวณแก่งบางระจัน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรซึ่งอยู่ใกล้กับที่พักสงฆ์บางระจัน จากนั้นนั่งเรือแจวหรือเรืออีโปงของชาวบ้านที่ใช้สัญจรหรือทำมาหากินในอดีตถึงปัจจุบัน ออกจากแก่งบางระจันเป็นจุดแรกล่องเรือไปตามลำน้ำเข็กที่ไหลเย็นแต่ไม่เชี่ยวกราก ซึ่งถือเป็นแม่น้ำบนภูเขาที่ไหลนิ่งและมีน้ำอยู่ในระดับสม่ำเสมอตลอดปี โดยจะมีน้ำมากและไหลแรงในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อล่องมาถึงแก่งสองจะมีจุดสำคัญที่สวยงามพลาดไม่ได้คือ การชมแมงกระพรุนน้ำจืด (Freshwater Jellyfish) ที่พบในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลก หลังจากที่พบที่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และญี่ปุ่น สายพันธุ์ที่พบคือ Crasapedacusta Sowerbyi แมงกระพรุนจะปรากฏตัวตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. นอกจากนี้บริเวณแก่งสองยังมีผีเสื้อพันธุ์หายากหลายพันธุ์ อาทิ ไกเซอร์ดำ ผีเสือจันทรา เหลืองหนานแฟ้นฉาน ถุงทองป่าสูง จรกา หนอนกะหล่ำ เหลืองหนามใหญ่โคนปีกดำ สะพายฟ้า หางติ่งปารีส หางดาบ หางพลิ้ว แผนที่ หนอนจำปี ฯลฯ ซึ่งผีเสื้อมักจะออกมาให้เห็นในช่วงที่มีแดดจัด เวลา 09.00 - 14.00 น. จากนั้นพักทานข้าวกลางวันเมื่อเลยช่องแคบมะละกา และเล่นน้ำ สามารถท่องเที่ยวแบบไปกลับได้หรือจะพักค้างคืนที่หมู่บ้าน แบบ home stay กับชาวบ้านได้ การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (หล่มสัก - สระบุรี) ไปทาง อ.หล่มสัก เมื่อถึงสี่แยกบ้านนางั่ว (ประมาณ กม.ที่ 238) จะพบทางแยกอยู่ด้านซ้ายมือเป็นทางขึ้นสู่อำเภอเขาค้อ เป็นทางหลวงหมายเลข 2258 ผ่านทางแยกบ้านสะเดาะพงษ์ไปหนองแม่นา ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร จะพบที่ทำการกลุ่มฯ อยู่ใกล้กับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงหน่วยหนองแม่นา นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณเกรียงไกร สมนรินทร์ ประธานกลุ่มชุมชนคนรักป่าหนองแม่นา - ทานตะวัน ซึ่งจัดโปรแกรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นั่งเรือแจวล่องลำน้ำเข็ก ติต่อ คุณ สมพงษ์ ตุ้มคำ เหรัญญิกกลุ่มฯ โทร. 0 1046 2166 หรือ คุณมด โทร. 0 7843 0344
 
:: ภูแก้ว แอดเวนเจอร์ ปาร์ค ::
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนภายในภูแก้วรีสอร์ท บนเส้นทางหมายเลข 12 ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ นำเสนอกิจกรรมกลางแจ้งแนวผจญภัยท่ามกลางบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยขุนเขา ได้แก่ ปีนหน้าผาจำลอง (Rock Climbing) โล้ชิงช้าด้วยการดิ่งตัวจากความสูง 20 ฟุต (Giant Swing) เหิรเวหา (High Flying) รถเลื่อนภูเขาความเร็วสูง (Mountain Speed Lude) ฐานเชือกผจญภัย (Rope Challenge) รถดุ๊กดิ๊กสำหรับเด็ก (Baby Racing) และพายแคนู (Canoe Paddle) เป็นต้น เปิดบริการทุกวัน โทร. 0 2381 0691 - 3, 0 5675 0053 หรือดูเว็บไซต์ www.phukaew.com
 
:: สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อเพชรบูรณ์ (สวนสัตว์เปิดเขาค้อ) ::
เป็นสถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ (โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ดำเนินโครงการโดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบนพื้นที่เขาค้อ และจากนั้นส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าได้จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาค้อและจัดทำโครงการสวนสัตว์เปิดเขาค้อ ครอบคลุมพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร ในตำบลเขาค้อ ตำบลสะเดาะพง และตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ สัตว์ป่าที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ภายในสถานีแบ่งออกเป็น ๓ จำพวก ได้แก่ สัตว์ป่าจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ป่าจำพวกสัตว์ปีก สัตว์ป่าจำพวกเลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อเพชรบูรณ์มีบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้หลังละ 10 คน หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67270 โทร. 0 6887 7393 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บางเขน กรุงเทพ โทร. 0 2561 4292 ต่อ 713, 0 2579 9630 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร
 
:: บริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก (เขาค้อ) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ::
ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 สี่แยกรื่นฤดี ตำบลสะเดาะพง มีพื้นที่ 35 ไร่ ประกอบด้วยอาคารผลิต 3 อาคาร ได้แก่ อาคารที่ 1 เป็นอาคารผลิตอาหารกระป๋องสำเร็จรูป เพื่อนำผลผลิตของเกษตรกรมาแปรรูปให้เก็บไว้ได้นาน อาคารที่ 2 เป็นอาคารอบแห้ง โดยมีเครื่องจักรอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เป็นโครงการสาธิตต้นแบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอุตสาหกรรม อาคารที่ 3 เป็นอาคารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อทำการวิจัยและขยายพันธุ์พืชของเกษตรกรให้มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมี สถานีทดลองและวิจัยพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรม มีพื้นที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านกองเนียม และ โรงเรียนเกษตรอินทรีย์ สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ประเภทของสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายได้แก่ ผัก ผลไม้และน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เช่น เสาวรส องุ่น มะเขือเทศ มะขาม ผัก ผลไม้ เครื่องเทศและสมุนไพรอบแห้ง เช่น ใบกะเพรา ตะไคร้ กระชาย มะขาม สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเข้าชมกิจการภายในโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรเป็น หมู่คณะควรทำหนังสือติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ถึงผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ตำบลสะเดาะพง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67270 โทร. 0 5672 8118 - 9
 
:: บริษัท จุลไหมไทย จำกัด (ไร่นายจุล คุ้นวงศ์) ::
ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 202 ทางหลวงหมายเลข 21 เส้นสระบุรี - หล่มสัก ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ 21 กิโลเมตร ใกล้สามแยกวังชมภู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมบนเนื้อที่กว่า 3,600 ไร่ มีลักษณะเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน เป็นสถานที่ผลิตเส้นใยไหมสำหรับทอผ้า กรรมวิธีการผลิตยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก เริ่มจากการฟักไข่ไหมเป็นตัวหนอนและตัวดักแด้ จากนั้นจึงนำมาสาวใยไหมออกเป็นเส้น มีการปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีสวนสละ ส้ม ส้มโอ และมีการเลี้ยงปลาน้ำจืดหลายชนิด ผลิตภัณฑ์ทั้งสดและแปรรูปมีนำมาวางขายที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ด้านหน้าไร่ทุกวัน นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าชมกิจการภายในไร่ ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึงผู้จัดการบริษัท หรือ โทร. 0 5677 1101 - 4 รวมทั้งยังมีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว เป็นแพ็กเกจทัวร์ ราคา คนละ 1,000 - 1,500 บาท โทร. 0 9960 3481 กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 0399, 0 2579 3195
 
:: อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยป่าแดง ::
อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงหมายเลข 2006 ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นแหล่งพักผ่อนริมน้ำที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นห้วยป่าแดงในเขตตำบลป่าเล่า อ่างเก็บน้ำนี้แวดล้อมด้วยทัศนียภาพของขุนเขาและสายน้ำที่งดงามโดยเฉพาะในยามเช้าตรู่และยามเย็น ช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นลง ประชาชนนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ นั่งรับประทานอาหาร สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ในบริเวณมีร้านขายอาหารบริการ อาหารที่ขึ้นชื่อคืออาหารจำพวกปลาน้ำจืดเช่น ปลาเผา ปลาทอด
 
:: สวนรุกขชาติหนองนารี ::
(สวนรุกขชาติผาเมือง) ตั้งอยู่ริมถนนนารีพัฒนา หมู่ที่ 5 ตำบลสะเตียง ข้างสนามกีฬาเทศบาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณสวนเป็นบึงบัวขนาดใหญ่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ สามารถขับรถเที่ยวรอบบึง บรรยากาศร่มรื่น มีร้านอาหารบริการ
 
:: เขารัง ::
เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ตั้งอยู่บนเส้นทางสายเพชรบูรณ์ - ตะพานหิน ถนนสายนี้สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดสู่เมืองเพชรบูรณ์ การก่อสร้างถนนเต็มไปด้วยความยากลำบาก ผู้คนที่สร้างทางจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย
 
:: หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ::
เป็นหอประชุมขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก จัดเป็นการแสดงภาพและของเก่าจากกรมศิลปากร บางส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนที่สอง จัดเวทีการแสดงทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น