วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ลำปาง

ชมเมืองบนรถม้า ::
นับเวลาย้อนหลังไปช่วง 80 ปีที่แล้ว สมัยของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ยังพัฒนาไม่ถึงนครลำปาง รถม้าเป็นพาหนะชนิดเดียวที่ได้รับความนิยมในการเดินทางสูงสุดและสามารถใช้บรรทุกของหรือสินค้า รถม้าคันแรกได้ถูกซื้อมาจากกรุงเทพฯ ขณะนั้นทางกรุงเทพฯ มีรถยนต์ใช้มากขึ้น บทบาทของรถม้าลากในกรุงเทพฯ จึงลดน้อยลง รถม้าจึงได้ถูกนำมาใช้ที่นครลำปางและยังได้กระจายไปสู่เมืองหลักของภาคต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมาของอีสาน นครศรีธรรมราชของภาคใต้ นครเชียงใหม่ เมืองเชียงราย เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองแม่ฮ่องสอนของทางภาคเหนือ แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ผู้ประกอบการรถม้าในเมืองดังกล่าวจึงเลิกกิจการไป คงเหลือแต่เฉพาะจังหวัดลำปางแห่งเดียวที่ยังคงใช้รถม้าอยู่ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ในสมัยหนึ่งรถม้ามีบทบาทอย่างมากในนครลำปาง มีรถม้าที่เรียกกันว่ารถม้าแท็กซี่ คอยรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมืองนครลำปาง ทั้งไปรับพัสดุภัณฑ์จากสถานีรถไฟมาส่งที่ทำการไปรษณีย์ เป็นรถรับส่งนักเรียน ขนของให้พ่อค้าแม่ค้าเรื่อยไปจนถึงพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล ทุกวันนี้มีรถม้าเหลืออยู่ไว้เพื่อการบริการนักท่องเที่ยว ทางจังหวัดได้จัดเส้นทางสำหรับรถม้าโดยเฉพาะเลาะเลียบแม่น้ำวังโดยสมาคมรถม้าลำปางกำหนด ค่าโดยสารแน่นอนไว้ 3 อัตรา คือ รอบเมืองเล็ก 150 บาท รอบเมืองใหญ่ 200 บาท หรือเช่าชั่วโมงละ 300 บาท คิวจอดรถม้าอยู่ที่หน้าศาลากลางหลังเก่า บริการระหว่างเวลา 06.00-16.00 น. ส่วนบริเวณหน้าโรงแรมทิพย์ช้างลำปาง โรงแรมเวียงลคอร และโรงแรมลำปางเวียงทอง บริการระหว่างเวลา 06.00 - 23.00 น.

เส้นทางรอบเมืองเล็ก ขึ้นที่ศาลากลางเก่ารถจะเลี้ยวซ้ายตรงสามแยกเข้าถนนทิพย์ช้าง สองฟากถนนมีร้านค้าที่เป็นตึกแถวเก่าๆ ให้ชมก่อนจะเลี้ยวซ้ายที่สามแยกการไฟฟ้าฯจะเห็นแม่น้ำวังไหลขนานไปกับถนนทางด้านขวา ผ่านห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของเมืองนักท่องเที่ยวมักถ่ายภาพคู่กับรถม้าเป็นที่ระลึกกันที่จุดนี้ จากนั้นรถม้าจะพาเข้าถนนบุญวาทย์อันเป็นย่านใจกลางธุรกิจการค้า ตึกแถวสองฟากเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ และมาสิ้นสุดตรงจุดเดิม ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

เส้นทางรอบเมืองใหญ่ ขึ้นที่ศาลากลางเก่าเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางรถม้ารอบเมืองเล็กไปจนถึง สามแยกการไฟฟ้าฯ แต่ไม่เลี้ยวซ้ายไปหอนาฬิกาจะตรงไปตามถนนวังขวาเลียบแม่น้ำวัง ผ่านบ้านไม้เก่าชื่อบ้านบะเก่าทางด้านซ้ายมือ ผ่านสวนสาธารณะเขลางค์นคร เลี้ยวซ้ายข้างสวนมาผ่านย่านตลาดอัศวินซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนที่คึกคักบนถนนท่าคร่าวน้อย ผ่านห้าแยกหอนาฬิกาเข้าถนนบุญวาทย์ สิ้นสุดทางที่จุดเดิม ใช้เวลาประมาณ 40 นาที

หากเช่าเป็นชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเส้นทางชมเมืองได้ตามความต้องการ เช่น ข้ามแม่น้ำวังบนสะพานรัษฎาภิเศก ชมบ้านเสานัก ชมวัดต่างๆ และนมัสการหลวงพ่อเกษม เขมโก

อีกเส้นทางหนึ่งคือชมย่านตลาดจีนบนถนนตลาดเก่า ซึ่งเป็นถนนเศรษฐกิจในอดีตที่ยังคงสภาพอาคารตึกแถวแบบโบราณไว้ทั้งสองฟาก บ้านเก่าหลายหลังมีลวดลายไม้ฉลุที่งดงาม ชมสถานีรถไฟที่เป็นอาคารแบบโบราณ แวะถ่ายภาพที่ห้าแยกหอนาฬิกาและอาจแวะซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิคบริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล 4 ที่อยู่ใกล้ๆกับหอนาฬิกา ซึ่งมีให้เลือกหลายร้าน

หากสนใจแหล่งทำรถม้า มีหลายหมู่บ้านซึ่งเป็นแหล่งรวมรถม้าและคนขับรถม้า เช่นบ้านวังหม้อ บ้านท่าคราวน้อย บ้านศรีบุญเรือง บ้านนาก่วมเหนือ และบ้านนาก่วมใต้
 
:: ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และ สวนป่าทุ่งเกวียน ::
   
ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ต.เวียงตาล อยู่ในความดูแลของฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) แต่เดิม ออป. เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้างเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ขณะที่แม่ช้างไปทำงานในป่า และเนื่องจากมีนโยบายปิดป่าซึ่งทำให้ช้างต้องว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกปรับมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย และที่นี่ยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลช้างด้วย

ออป.จึงได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 และจัดกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ได้แก่ การแสดงของช้าง มีบริการนั่งช้างรอบบริเวณซึ่งเป็นสวนป่า บริการอาหารเครื่องดื่มและร้านขายของที่ระลึก การแสดงของลูกช้างทุกวันวันละ 3 รอบคือ 09.30 น., 11.00 น. และ14.00 น.ค่าเข้าชมสำหรับ ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ส่วนช้างแท็กซี่ หรือบริการนั่งช้างชมธรรมชาติรอบ ๆ ศูนย์ฯ มีทุกวัน เวลา 08.00 - 15.30 น. นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการได้หลายเส้นทาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5424 7871 - 6

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) ประเภทรางวัลดีเด่นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พ.ศ.2541 ปัจจุบันศูนย์ฯมีโครงการโรงเรียนฝึกควาญช้าง เพื่อฝึกควาญหรือผู้ที่ประสงค์จะเป็นควาญให้สามารถดูแลช้างได้อย่างถูกต้อง มีชาวต่างชาติให้ความสนใจมาสมัครเป็นนักเรียนหลายคน และมีกิจกรรม โฮมสเตย์ (Homestay) ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ เรียนรู้วิถีชีวิตที่ผูกพันระหว่างช้างกับคนเลี้ยงช้างอย่างใกล้ชิด เป็นรายการ 3 วัน 2 คืน ครั้งละไม่เกิน 18 คน คนละ 3,000 บาท โดยรวมค่าอาหาร ที่พัก บ้านพักโฮมสเตย์มีทั้งหมด 3 หลัง

นอกจากเรื่องท่องเที่ยวแล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ พลังงานที่ใช้ภายในศูนย์ฯ มาจากพลังงานทดแทนในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มีก๊าซชีวภาพจากมูลช้างใช้ในการหุงต้ม และกระแสไฟฟ้าผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์

สวนป่าทุ่งเกวียน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวลำปาง มีป่าสนเมืองหนาวและพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งไม้ดอก ไม้ใบที่มีสีสันสวยงาม อีกทั้งไม้จำพวกตะบองเพชร และปาล์ม ตลอดจนพืชสมุนไพรต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถแค้มปิ้งที่นี่ได้ ช่วงที่สวยที่สุดเหมาะแก่การพักแรมคือเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกบัวตองกำลังบาน เนื่องจากจังหวัดลำปางมีพื้นที่เป็นแอ่งกะทะจึงมีอากาศที่ร้อนกว่าแม่ฮ่องสอน ดอกบัวตองที่ลำปางจึงบานเร็วกว่าที่ดอยแม่อูคอประมาณ 15 วัน ประมาณเดือนตุลาคมมีการจัดกิจกรรมทุ่งเกวียนเมาเท่นไบค์ และเดือนธันวาคมของทุกปี จะมีการจัดงาน "ดอกไม้บานวันพบช้าง"

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองลำปาง 24 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 11 (สายลำปาง - ลำพูน) บริเวณกิโลเมตรที่ 28 - 29 หากโดยสารรถประจำทาง ขึ้นรถที่จะไปเชียงใหม่จากสถานีขนส่งลำปาง มาลงที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

รายละเอียดอื่นๆ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ website : www.thailandelephant.org
 
:: สะพานรัษฎาภิเศก ::
หรือ สะพานขาว ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ที่ตั้งชื่อจากพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเศก สมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟมีอายุผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว และรอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ด้วยการทาสีพรางตา และด้วยการอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของนางลูซี สคาร์ลิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวิชชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสัมพันธมิตรในขณะนั้น เป็นสะพานไม้เสริมเหล็กที่ชำรุดผุพัง จึงมีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานรุ่นเดียวกัน ที่ไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน ที่บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาว และครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพาน
 
:: บ่อน้ำพุร้อน ::
ตามเส้นทางนี้มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่สองแห่งตกแต่งสถานที่ด้วยสวนดอกไม้สวยงาม มีห้องอาบน้ำแร่ ที่พัก สถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร ได้แก่ น้ำพุร้อนสันกำแพง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 34 กิโลเมตร
 
:: อ่างเก็บน้ำแม่มอก ::
ตำบลเวียงมอก ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากปากทางแยกที่อำเภอเถิน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในโครงการ พระราชดำริ มีเนื้อที่ 10,000 ไร่ กว้าง 2 กิโลเมตร สันเขื่อนยาว 1.9 กิโลเมตร บรรยากาศเป็นธรรมชาติร่มรื่นเขียวชอุ่ม ด้วยต้นไม้ตลอดทาง อ่างเก็บน้ำแม่มอกเป็นเขื่อนทำนบดินส่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคแก่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยและอำเภอเถิน บริเวณอ่างเก็บน้ำฯ มีบ้านพักรับรองไว้บริการนักท่องเที่ยว ผู้สนใจติดต่อ โครงการชลประทานลำปาง โทร. 0 5422 7211 - 2 หรือ สำนักงานจังหวัดลำปาง โทร. 0 5426 5014 โทรสาร 0 5426 5075
 
:: น้ำตกวังแก้ว ::
เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งในอุทยานแห่งชาติดอยหลวงซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2533 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพะเยา เชียงรายและลำปาง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,170 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงทอดตัวแนวเหนือ - ใต้ มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรังปะปนกัน มีสัตว์ป่าและนกหลายชนิด ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่บริเวณน้ำตกวังแก้ว
 
:: ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว หรือ บ้านจ้างหลวง ::
(ช้างหลวง) ตั้งอยู่ที่ 33 หมู่ 9 บ้านข่อย ตำบลบ้านร้อง ก่อตั้งโดย ครูคำอ้าย เดชดวงตา เป็นที่รวบรวมงานไม้แกะสลักซึ่งเป็นผลงานของผู้ก่อตั้ง เรือนเก็บงานแกะสลักเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ดูคล้ายช้าง แทบทุกส่วนของอาคารออกแบบตกแต่งด้วยศิลปะที่กลมกลืน และเคยใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานไม้แกะสลักของครู คำอ้าย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ถูกไฟไหม้ไป ทำให้ผลงานถูกไหม้ไฟไปประมาณ 50 - 60 ชิ้น
 
:: ค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา ::
เป็นหน่วยทหารซึ่งจัดนำเที่ยวเดินป่าเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ค่ายและบริเวณใกล้เคียง มีการจัดฝึกอบรมวิชาการเดินป่า แนะนำการดำรงชีวิตในป่า การไต่หน้าผาจำลอง การตั้งค่ายพักแรม การเดินชมทิวทัศน์บนยอดเขา และยังมีวิทยากรนำชมแหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 5424 7712, 0 5422 5941 ต่อ 3387 หรือ ตู้ ปณ. 1 อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52000
 
:: แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา ::
อยู่บริเวณเดียวกับศาลเจ้าพ่อประตูผา เส้นทางลำปาง - งาว กิโลเมตรที่ 48 ครอบคลุมพื้นที่บริเวณหน้าผาเทือกเขา หินปูนด้านทิศตะวันออก อันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อประตูผา มีภาพเขียนสีที่กล่าวกันว่ายาวที่สุดในเอเชียตะวันออก- เฉียงใต้ อายุกว่า 3,000 ปี แบ่งเป็น 7 กลุ่ม ภาพบางส่วนค่อนข้างลบเลือนหมดแล้ว หลงเหลือพอให้เห็นได้เพียง 1,872 ภาพ ส่วนมากเป็นภาพมือ คน สิ่งของ เครื่องใช้ สัตว์ พืช และภาพเชิงสัญลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลุมศพ โครงกระดูกมนุษย์โบราณ ภาชนะดินเผา ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับทางเดินเท้าให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมได้ พื้นที่ใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา
 
:: ศาลเจ้าพ่อประตูผา ::
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางตามเส้นทางสายลำปาง - งาว ประมาณ 50 กิโลเมตร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 649 - 650 ศาลตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ด้านขวามือ เป็นศาลเล็กๆ ก่ออิฐถือปูน ภายในมีรูปปั้นเจ้าพ่อประตูผาและเครื่องบูชามากมาย บริเวณใกล้เคียงมีศาลพระภูมิเล็กๆ มากมายเรียงรายอยู่ ศาลเจ้าพ่อประตูผานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่สัญจรไปมาบนเส้นทางนี้มักแวะนมัสการและจุดประทัดถวายเจ้าพ่อประตูผาเดิมชื่อ พญาข้อมือเหล็ก เป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน เป็นทหารเอกของเจ้าผู้ครองนครลำปาง ครั้งหนึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่ช่องประตู ผาจนกระทั่งถูกรุมแทงตายในลักษณะถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขา ทหารพม่ากลัวจึงไม่กล้าบุกเข้าไปตีนครลำปาง ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธาและเคารพสักการะโดยตั้งศาลขึ้นบูชาเป็นที่นับถือของชาวลำปาง
 
:: เหมืองลิกไนต์ ::
เป็นแหล่งถ่านหินซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2460 มีปริมาณถึง 630 ล้านตัน และมีอายุประมาณ 40 ล้านปี พื้นที่เหมืองทั้งหมดเป็นของกรมป่าไม้ มีประมาณ 20,000 ไร่ สามารถใช้ได้อีกประมาณ 50 ปี บริเวณเหมืองมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่หลายโรง ถึงแม้นักท่องเที่ยวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงไปบริเวณขุดเจาะถ่านหินเพราะมีอันตรายจากวัตถุระเบิดที่ใช้ทำเหมือง แต่ กฟผ. ได้จัดทำจุดชมวิวสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสวนหย่อม ตกแต่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ และสามารถมองเห็นการทำงานของรถขุดตักแร่ซึ่งอยู่ห่างออกไปเบื้องล่างได้เป็นมุมกว้าง ในบริเวณเหมืองมีบ้านพักรับรองของ กฟผ. สนามกอล์ฟ และสโมสร สอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โทร. 0 5425 2730 - 1, 0 5425 2724

การเดินทาง ไปตามถนนสายลำปาง - เด่นชัย เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร สามารถเช่ารถสองแถวซึ่งจอดอยู่บริเวณตลาดบริบูรณ์ในตัวเมือง หรือที่สี่แยกร้านขายยาไทยโอสถ ถนนทิพวรรณ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที
 
:: ชุมชนท่ามะโอ ::
ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของสะพานข้ามแม่น้ำวัง บริเวณสะพานเขลางค์ ถนนราษฎร์พัฒนา เป็นชุมชนเก่าแก่ของเมือง มีมาตั้งแต่สมัยที่ชาวพม่าเข้ามาทำการค้าไม้สักกับชาวอังกฤษในจังหวัดลำปาง ในช่วงเวลานั้นได้สร้างบ้านเรือนมากมาย บ้านหลังหนึ่งในจำนวนนั้น คือ บ้านเสานัก
 
:: พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ::
ตั้งอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง ถนนฉัตรไชย รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านการเงินการธนาคาร อาคารพิพิธภัณฑ์นี้ในอดีต เคยเป็นบริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกให้อาคารนี้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2540 ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้ปรับปรุงอาคารดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอันเอื้อประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้ประวัติการก่อกำเนิดธนาคารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และชั้นล่างได้จัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในธนาคารในยุคเริ่มก่อตั้ง อาทิเช่น สมุดบัญชีเงินฝาก เคาน์เตอร์ธนาคาร และเครื่องพิมพ์บัญชี ชั้นบนเป็นห้องพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชสมัยเป็นผู้จัดการสาขาที่นี่ ผู้สนใจต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยติดต่อที่ โทร. 0 5422 5062, 0 5421 7064, 0 5421 7251
 
:: สถานีรถไฟนครลำปาง ::
สถานีแห่งนี้เปิดรับขบวนรถไฟโดยสารครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2459 ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ไทยในยุคนั้น สมัยนั้นมีเจ้ากรมรถไฟเป็นวิศวกรชาวเยอรมัน เมื่อแรกเริ่มมีรถไฟสายเหนือ สถานีรถไฟนครลำปางคือจุดสิ้นสุดของเส้นทาง สถานีนี้ตั้งอยู่สุดถนนสุเรนทร์ บริเวณสี่แยกบ้านสบตุ๋ย อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนสามสายแรกในภาคเหนือของประเทศไทย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง พื้นที่นาบริเวณชานเมืองมาเป็นพื้นที่เมืองอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับความเจริญที่เพิ่มทวีมากขึ้น เมื่อมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟด้วยการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลผ่านภูเขาและไปถึงนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 นครลำปางจึงเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า จากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ และลำเลียงสินค้าที่จำเป็นจากภาคเหนือมายังกรุงเทพฯ ส่งผลให้ย่านการค้าสบตุ๋ยแห่งนี้มีการความเจริญอย่างมาก อาคารโบราณเหล่านี้ยังคงหลงเหลือเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่คงรายละเอียดของความสวยงาม ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปางโดยแท้
 
:: บ้านสวนเซรามิค ::
บรรยากาศร่มรื่นตกแต่งบ้านเป็นสถานที่แสดงสินค้า ผนังด้านนอกและด้านในประดับด้วยผลิตภัณฑ์ศิลาดล หากต้องการเข้าชมขั้นตอนการผลิต ต้องติดต่อล่วงหน้ากับ คุณเมธี โกสุมภ์ โทร. 0 5433 6957, 0 1883 6359

การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ถนนลำปาง - กรุงเทพฯ ก่อนถึงสถานีตำรวจทางหลวง ใช้ถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทาน จนเจอทางแยกให้เลี้ยวซ้าย แล้วตรงไปเจอสะพานเขลางค์ วัดบ้านหมอสม แล้วเลี้ยวซ้ายเจอป้ายสีเขียวด้านขวามือ ตรงไปอีก 100 เมตร จะพบบ้านสวนเซรามิค
 
:: อ่างเก็บน้ำวังเฮือ ::
อยู่ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร บนถนนสายลำปาง - เด่นชัย แล้วเลี้ยวขวาตามถนนเข้าตัวเมืองอีกราว 300 เมตร อ่างเก็บน้ำอยู่ริมถนน เหมาะแก่การแวะพักผ่อนหย่อนใจ ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวเขา มีทิวทัศน์สวยงามโดยเฉพาะยามพระอาทิตย์ตกดิน
 
:: สวนสาธารณะหนองกระทิง ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อแฮ้ว จากตัวเมืองข้ามลำน้ำวังไปตามเส้นทางสายลำปาง - ห้างฉัตร ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ใกล้ตัวเมือง ชาวลำปางนิยมมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ เล่นเรือถีบ และมีสวนหย่อมสำหรับพักผ่อน มีร้านอาหารและเครื่องดื่มบริการ
 
:: เขื่อนกิ่วลม ::
อยู่ห่างจากตัวเมืองไป 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลำปาง - งาว โดยแยกซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ 623 - 624 เข้าไปอีก 14 กิโลเมตร เขื่อนกิ่วลมอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท แต่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือหรือแพ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม การล่องแพใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน มีสถานที่น่าสนใจ เช่น แหลมชาวเขื่อน ผาเกี๋ยง ผางาม ทะเลสาบสบพุ หมู่บ้านชาวประมงบ้านสา ฯลฯ ติดต่อบริการล่องแพได้ที่บริเวณเขื่อน แต่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือหรือแพ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม การล่องแพใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน มีสถานที่น่าสนใจ เช่น แหลมชาวเขื่อน ผาเกี๋ยง ผางาม ทะเลสาบสบพุ หมู่บ้านชาวประมงบ้านสา ฯลฯ ติดต่อบริการล่องแพได้ที่บริเวณเขื่อน
 
:: พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ::
 
ประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงไทยแบบจตุรมุขซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง พระพุทธรูปสร้างด้วยโลหะผสมรมดำทั้งองค์ ปางสมาธิ ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อดำ จัดสร้างโดยกรมการรักษาดินแดนเมื่อปี พ.ศ. 2511 มี 4 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ 4 ทิศของประเทศ โดยทางทิศเหนือได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดลำปาง นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองเกือบทั้งองค์โดยสาธุชนที่มานมัสการ
 
:: สถานปฏิบัติธรรม - มณฑป หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ ::
ตั้งอยู่ชานเมืองลำปาง ตามทางสายลำปาง - แจ้ห่มประมาณ 1 กิโลเมตร ไปเส้นทางเดียวกับวัดเจดีย์ซาวหลัง แต่ถึงก่อนประมาณ 500 เมตร เมื่อไปถึงจะพบรูปปั้นหลวงพ่อเกษมขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้จากถนน ภายในบริเวณมีมณฑปลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อเกษม เขมโก เกจิอาจารย์ซึ่งมีผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก นั่งขัดสมาธิขนาดเท่ารูปจริง เพื่อให้ประชาชนเคารพสักการะ และบริเวณหน้ามณฑปมีสถานที่เช่าพระเครื่อง ส่วนกุฏิของหลวงพ่อเกษมอยู่ด้านข้างมณฑป
 
:: ถนนตลาดเก่า หรือ ถนนตลาดจีน ::
 
เดิมที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะเป็นย่านการค้าของคนจีนยุคแรกๆ ที่มาทำการค้าบริเวณท่าน้ำวัง ในยุคต่อมาเมื่อชาวพม่าเข้ามาทำการค้าไม้ร่วมกับฝรั่ง จึงได้รับอิทธิพลจากศิลปะการสร้างอาคารแบบยุโรป หากเดินทอดน่องไปตามถนนสายนี้ เราจะได้เห็นอาคารโบราณตลอดจนร้านค้า ที่เป็นอาคารไม้และอาคารตึกปนไม้ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่สองข้างทาง
 
:: ตลาดรัษฎา ::
หรือตลาดหัวขัว อยู่ตีนสะพานรัษฎา เป็นตลาดเช้าที่คึกคักและใหญ่ที่สุดในลำปาง ติดตลาดกันแต่เช้ามืดจนถึงเก้าโมงเช้า มีของขายมากมายทั้งกับข้าวพื้นเมือง ขนมพื้นบ้าน ผลไม้ ของสดตามฤดูกาล เช่น ผักแปลกๆ แมลง เห็ด รวมทั้งของฝากไม่ว่าจะเป็นไส้อั่ว ข้าวแต๋น แคบหมู หมูยอ ตอนเย็นจะมีร้านมาขายบ้าง ส่วนใหญ่เป็นขนม และกับข้าวสำเร็จรูป
 
:: บ้านเสานัก ::
 
เลขที่ 6 ถนนป่าไม้ เป็นบ้านไม้ที่มีเสาไม้สักมากถึง 116 ต้น จึงเรียกว่าบ้านเสานัก (ตามภาษาพื้นเมือง นัก มีความหมายว่า มาก) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 โดยหม่องจันโอง ต้นตระกูลจันทรวิโรจน์ ลักษณะศิลปะพม่าผสมล้านนา ประกอบด้วยเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนหมู่ มีเสาไม้สักรองรับน้ำหนักบ้านถึง 116 ต้น หน้าบ้านมีต้นสารภี อายุ 140 ปี แต่เดิมบ้านเสานักเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมบ้านและของสะสมต่างๆ และใช้เป็นสถานที่จัดขันโตกและงานพิธีมงคล ให้เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00 - 17.00 น. ค่าเข้าชมพร้อมเครื่องดื่ม 30 บาท สอบถามได้ที่ โทร. 0 5422 7653, 0 6910 7428 หรือที่ http://www.baansaonak.com/
 
:: ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ::
ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางด้านตะวันตกเฉียงใต้ หลักเมืองทำด้วยไม้สัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยหลักที่หนึ่งสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 หลักที่สอง พ.ศ. 2416 และหลักที่สาม พ.ศ. 2429 ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เมื่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้น ได้นำหลักเมืองมาไว้ที่บริเวณหน้าศาลากลาง และได้มีการสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามในปี พ.ศ. 2511 เปิดทุกวันเวลา 06.00 - 18.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น